โควิดระลอกใหม่ซ้ำเติม‘หุ้นสายการบิน’
การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. นี้ กลายเป็นวิบากกรรมซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวไทย จากเดิมที่คาดว่าจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นประชาชนออกมาเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น หลังสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย
ประกอบกับมีความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนโควิด ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน จะเห็นว่าบรรยากาศเริ่มคึกคัก อัตราการเข้าพักทั่วประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สายการบินผู้โดยสารแน่นแทบทุกไฟลท์ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันภาครัฐวางแผนเตรียมพร้อมที่จะเปิดประเทศ โดยตั้งเป้าว่า 1 ก.ค. นี้ จะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ประเดิมนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนที่จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ
แต่สุดท้ายเมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ก่อนที่จะแพร่ระบาดออกไปทั่วประเทศ กลายเป็นจุดเปลี่ยนทันที เพราะรอบนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดต้องมีการยกระดับมาตรการคุมเข้ม
ทั้งการแบ่งโซนพื้นที่ควบคุมโรคระบาดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) อีก 59 จังหวัด สั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ สถานศึกษา ทั่วประเทศ มีการกำหนดเวลาเปิดปิดร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ
ขณะที่หลายจังหวัดออกมาตรการเข้ม สั่งกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเต็มๆ หลายคนต้องยกเลิกการเดินทาง เลื่อนการเข้าพัก ทำให้อัตราการเข้าพักทั่วประเทศเฉลี่ยตอนนี้เหลือไม่ถึง 10%
ส่วนสายการบินหลายไฟลท์ถูกแคนเซิล เพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขอความร่วมมือสายการบินต่างๆ หยุดบินในช่วงเวลา 23.00-04.00 น.
ขณะเดียวกันสายการบินต้องออกมาตรการมาเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ โดยให้เลื่อนตั๋วเลื่อนไฟลท์บินออกไปก่อน ซึ่งขณะนี้ต้องรอดูว่าสถานการณ์จะลากยาวไปนานแค่ไหน เพราะแน่นอนว่ายิ่งนานยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
วินาทีนี้ธุรกิจสายการบินอาการยังน่าเป็นห่วง สถานการณ์ยังไม่แน่นอนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เห็นได้จากช่วงต้นปี บรรยากาศคึกคักมาก แต่ละค่ายปล่อยหมัดเด็ด ออกโปรโมชั่นมาสู้กันเต็มที่ อย่าง “ไทยแอร์เอเชีย” ของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เปิดให้จองตั๋วบุฟเฟ่ต์บินได้ไม่จำกัดเที่ยวตั้งเเต่ 1 เม.ย.-16 ธ.ค. 2564 ในราคา 3,599 บาท
ปรากฎว่ากระแสตอบรับถล่มทลาย 80,000 สิทธิเต็มไปอย่างรวดเร็ว หลังเปิดจองได้เพียงแค่ 2 วัน ทำให้บริษัทตุนเงินสดเข้ากระเป๋าไปไม่ต่ำกว่า 287 ล้านบาท
ส่วนค่าย “บางกอกแอร์เวย์ส” ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA จัดเต็มกับโปรโมชั่นบินเที่ยวไทยจ่ายครึ่งเดียว มอบส่วนลดถึง 50% ให้กับสมาชิกฟลายเออร์โบนัส โดยเปิดให้ลงทะเบียนขอรับสิทธิเมื่อ 24-26 มี.ค. ที่ผ่านมา และใช้ได้ถึงสิ้นเดือน ก.ย. นี้
ขณะที่ “นกแอร์” ของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ส่งโปรโมชั่นบิน 4 จ่าย 3 ด้วยการให้ส่วนลดค่าบัตรโดยสาร 25% เมื่อจองที่นั่ง 4 ท่าน แบบไป - กลับ ต่อหนึ่งหมายเลขการจองในเที่ยวบินเดียวกัน โดยให้โควต้าทั้งหมด 1 ล้านที่นั่ง
เรียกว่าแต่ละค่ายไม่มีใครยอมใคร ดิ้นรนกันอย่างเต็มที่ ต้องช่วยตัวเองกันไปก่อน เพราะมาตรการที่ขอความช่วยเหลือจากรัฐ อยากได้ซอฟท์โลนมาช่วยพยุงธุรกิจยังคงไร้สัญญาณตอบรับ ตอนแรกดูท่าจะดีอยู่แล้ว แต่พอมาเกิดการระบาดรอบใหม่ เหมือนกับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที จากธุรกิจที่กำลังฟื้นคืนชีพ กลับมาโคม่าอีกครั้ง
ทำให้การลงทุนในหุ้นสายการบินดูยังมีความเสี่ยง จากสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน เวลานี้คงได้แต่หวังว่าสถานการณ์รอบนี้จะไม่ลากยาว ขณะเดียวกันก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่าการระบาดรอบใหม่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเช่นกัน