ล็อกซเล่ เขย่าบริษัทลูก ฟื้นรายได้-กำไร ปี 64
ล็อกซเล่ย์ หนึ่งในองค์กรเก่าแก่ของไทย มีธุรกิจที่หลากหลายทั้งเทคโนโลยี พลังงาน ธุรกิจบริการ และเทรดดิ้ง หรือจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ชั้นนำ เช่น น้ำมันพืชกุ๊ก ถั่วลันเตาอบกรอบกรีนนัท ฯ
หลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเขย่าโครงสร้างองค์กรปรับทัพทีมบริหารจัดการใหม่มุ่งรีดไขมัน รวมถึงโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น จึงเห็นการปิดบริษัทนับสิบที่ทำเงินหลักไม่กี่ล้านบาท เหลือไว้เพียงบริษัทที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำหลัก “ร้อยล้านบาท” 7-8 บริษัทเป็นหมากรบสร้างการเติบโตต่อไป
เมื่อองค์กรฟิตในระดับหนึ่ง แผนธุรกิจปี 2564 สุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแนวทางสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันความสามารถทำกำไรให้โดดเด่นอีกครั้ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมากำไรอยู่ในระดับต่ำ บางปีเผชิญการขาดทุนอย่างหนัก
นอกจากนี้ หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น “โอเปอเรติ้ง โฮลดิ้ง คัมปะนี” ลุยทำธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะบริษัทในเครือต้องออกไปสร้างรายได้กลับมาเลี้ยงบริษัทแม่ได้มากขึ้น ซึ่งแต่ละบริษัทมีศักยภาพในการขยายตลาดที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับ 7-8 บริษัทหัวหอก เช่น บริษัท ล็อกซบิท จำกัด (มหาชน)ลุยขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครื่องบริการอัตโนมัติ ระบบการให้บริการลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินครบวงจรด้วยตนเองและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ, บริษัท ล็อกซเล่ย์ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ออกแบบติดตั้งและทดสอบระบบไฟฟ้า
บริษัท รักษาความปลอดภัย เอเอสเอ็ม แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตสูง เพราะโรงแรม ห้างค้าปลีกต่างๆ ต้องการพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแล และต้อนรับลูกค้า ทำให้บริษัทมีพนักงานรักษาความปลอดภัยมากถึง 8,000-9,000 คน แต่จากผลกระทบโควิดทำให้พนักงานลดลงกึ่งหนึ่ง บางส่วนที่ให้บริการที่สนามบินได้ถูกรวมกับพันธมิตร ทำให้ไม่ต้องกระทบการจ้างงาน
ส่วนบริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด ได้มีการปรับตัวหลายด้านเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งเพิ่มพอร์ตโฟลิโอสินค้าใหม่ๆในกลุ่มเทอร์พีน สินค้ากัญชากัญชง และแปรงสีฟัน ยาสีฟันจอร์แดน เพื่อกระจายสู่ร้านค้าต่างๆ จากปัจจุบันสินค้าหลักน้ำมันกุ๊ก กรีนนัท ฯทำยอดขายถึง 90% ขณะเดียวกันหน่วยรถขายสินค้าหรือแคชแวนได้ยุติการทำเองและไปร่วมกับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เพื่อกระจายสินค้าสู่ร้านต่างๆแทน
“เราเพิ่งนำสินค้าที่มีไปใช้บริการบุญรอดเทรดดิ้งในการกระจายสินค้า การเป็นพันธมิตรครั้งนี้ทำให้เราเข้าถึงร้านค้าและผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมบริษัทมีเครือข่ายร้านราว 40,000 แห่งทั่วประเทศ”
สำหรับการปรับตัวครั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ล็อกซเล่ย์เติบโตขึ้น ที่สำคัญจะเห็นกำไรหลัก “หลายร้อยล้าน” อีกครั้ง ส่วนปี 64 มีรายได้กว่า 14,536 ล้านบาท กำไรสุทธิ 67 ล้านบาท
“ยอดขายปีนี้จะโตแน่นอน ส่วนกำไรจะเห็นการทำนิวไฮอีกครั้ง แต่สิ่งที่ต้องระวังปีนี้คือเรื่องหนี้เสีย และความล่าช้าในการตรวจรับงานภาครัฐ เพราะโควิด-19 ระบาดทำให้ต้องทำงานที่บ้าน การเข้าตรวจงานสถานที่ต่างๆทำได้ยาก อาจมีผลต่อการรับรู้รายได้ช้าลง มีผลต่อภาระดอกเบี้ย งานเสร็จช้าทำให้นำสรรพกำลังไปรับงานอื่นลำบาก เหล่านี้เป็นความเสี่ยง”