รมว.แรงงาน ห่วงลูกจ้าง นายจ้าง หลังแนวโน้มเลิกจ้างสูงขึ้น
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ พบแนวโน้มการเลิกจ้างลูกจ้างสูงขึ้น กระทรวงแรงงาน ห่วงใยทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ขอให้จับมือประคองธุรกิจไปด้วยกันก่อนตัดสินใจหยุดกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้าง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปในวงกว้างส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการและลูกจ้าง จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลดพนักงาน หรือเลิกกิจการในท้ายสุด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุขในวงการแรงงาน จึงขอให้นายจ้าง ลูกจ้างนำมาตรการและแนวปฏิบัติการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต และมาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อประคองการดำเนินธุรกิจก่อนหยุดกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้าง
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดี กสร. กล่าวว่า จากสถิติการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 18 เมษายน 2564 พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,789 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 7,614 คน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,708 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 6,621 คน และมีการหยุดกิจการตามมาตรา 75 จำนวน 708 แห่ง เป็นการหยุดกิจการบางส่วน 517 แห่ง ลูกจ้าง 130,407 คน และหยุดกิจการทั้งหมด 289 แห่ง ลูกจ้าง 61,566 คน
ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างควรนำมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้ ซึ่งมี 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการลดค่าใช้จ่าย 2.มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และ 3.มาตรการลดจำนวนลูกจ้าง โดยขอให้การเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ ทั้งนี้นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย