ผู้ติดเชื้อวันนี้ ปัจจัยเสี่ยง'โควิด19'เปลี่ยน
ศบค.รายงานติดโควิด19 ใหม่ 2,012 ราย ยังรักษารวมกว่า 2.7 หมื่นราย อาการหนัก 695 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 199 ราย กทม.ผู้ป่วยหนักแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ 3 จ.ยังหนัก เจอใหม่ต่อวันมากกว่า 100 ราย เผยปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อสูงสุดจาก"ใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน" พบถึง 44%
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 เม.ย.2564 ที่ ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า พบผู้ป่วยใหม่ 2,012 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,001 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 11 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย เฉพาะระลอกเดือนเม.ย.ติดเชื้อสะสม 32,836 ราย เสียชีวิตสะสม 84 คน ผูเติดเชื้อสะสมทั้งหมด 61,699 ราย ยีงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) 27,119 ราย แบ่งเป็นในรพ. 21,008 ราย ในรพ.สนามและอื่นๆ 6,111 รายอาการหนัก 695 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 199 ราย ภาพรวมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ วันที่ 28 ก.พ. – 27 เม.ย. สะสม 1,279,713 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 1,038,960 ราย และผู้ที่ได้รับครบโดส 240,753 ราย
ผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นเพศชาย 11 ราย เพศหญิง 4 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) 9 ราย เชียงใหม่ 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย ชลบุรี 1 รายและระนอง 1 ราย จำแนกตามโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน 9 ราย โรคหัวใจ 1 ราย โรคไขมันในเลือดสูง 4 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/หอบหืด 3 ราย โรคไตเรื้อรัง 2 ราย โรคไทรอยด์เป็นพิษ 3 ราย โรคอ้วน 4 ราย โรคสมองเสื่อม/อัลไซเมอร์ 1 ราย และปฏิเสธโรคประจำตัว 2 ราย ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงในการรับเชื้อ ได้แก่ สัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว 10 ราย ติดเชื้อจากที่ทำงาน 2 ราย ไปสถานบันเทิง 1 ราย สัมผัสกับเพื่อนบ้านที่ติดเชื้อ 1 ราย และสัมผัสเพื่อนที่ฟิตเนส 1 ราย
ผู้ป่วยอาการหนักในกทม.7วันย้อนหลัง
เฉพาะพื้นที่กทม. ตั้งแต่วันที่ 21-27 เม.ย. มีผู้ป่วยอาการหนัก และใส่เครื่องช่วยหายใจ วันที่ 21 เม.ย. 109 รายและ 42 ราย 22 เม.ย. 119 และ52 ราย 23 เม.ย. 151และ61 ราย 24 เม.ย. 190 และ67 ราย 25เม.ย. 212 และ77 ราย 26 เม.ย. 228 และ90 รายและ27เม.ย. 255 และ104 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยกลับบ้านแต่ยังต้องกลับไปแยกตัวที่บ้านห้ามไปทำงานหรือสถานที่ชุมชนอีก 14 วันตั้งแต่ 21-27 เม.ย. รวมจำนวน 5,031 ราย
"จำนวนเตียงที่มีผู้ป่วยกลับบ้าน ไม่ได้หมายความว่าจะนำผู้ติดเชื้อเข้าไปครองเตียงแทนได้ทันที จะต้องมีการคัดกรองประเมินอาการ ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ประเมินอาการแล้วแจ้งให้ไปรับการดูแลรักษาที่รพ.สนามหรือฮอสพิเทลขอให้ร่วมมือปฏิบัติตาม เพราะในรพ.จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักครองเตียงก่อน ดังที่เห็นตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจค่อนข้างสูงขึ้น" พญ.อภิสมัยกล่าว
10 จ.ติดเชื้อสะสมสูงสุด
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกเดือนเม.ย.2564 สะสม 32,636 ราย เมื่อจำแนกพบว่า กทม. มีผู้ป่วยสะสม 10,899 ราย ปริมณฑล 4,862 ราย และจังหวัดอื่นๆ รวมอีก 16,875 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด ได้แก่ กทม. 10,899 ราย เชียงใหม่ 3,347 ราย ชลบุรี 2,151 ราย นนทบุรี 1,466 ราย สมุทรปราการ 1,430 ราย สมุทรสาคร 829 ราย ปทุมธานี 661 ราย สุราษฎร์ธานี 573 ราย สงขลา 563 ราย และ นครปฐม 458 ราย
3จ.เจอติดใหม่มากกว่า 100 ราย
แผนที่แสดงจังหวัดการพบผู้ติดเชื้อรายวันของวันที่ 28 เม.ย.2564 พบว่า จังหวัดสีขาว ไม่พบผู้ติดเชื้อ 9 จังหวัด สีเขียวพบ 1-10 ราย 35 จังหวัด สีเหลือง 11-50 ราย 25 จังหวัด สีส้ม 51-100ราย 5 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี เชียงใหม่ สงขลา และสีแดง มากกว่า 100 ราย 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี
ติดเชื้อจากใกล้ชิดคนป่วยสูงสุด
ปัจจัยเสี่ยงของการติดโควิด 19 ในการระบาดระลอกเดือนเม.ย. 2564 ข้อมูลถึงวันที่ 25 เม.ย. ใน 5 อันดับแรก คือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 44.30 % หมายความว่าผู้ป่วยไม่ได้มีการระมัดระวังหรือแยกกักได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที จึงมีการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับบุคคล 2. สถานบันเทิง 25.2 % 3.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน 9.8% 4.ตลาดนัด/สถานที่ท่องเที่ยว 6.4% และ 5 .การสัมผัสใกล้ชิดกับคนในสถานที่ทำงาน 3.4 % จึงมีมาตรการมากมายออกมาระยะนี้ ในการพยายามให้เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากาก บางพื้นที่กำหนดเป็นกฎหมาย รวมถึง ต้องฝ้าระวังและป้องกันการใกล้ชิดของคนทั้งที่อยู่ร่วมบ้าน รถสาธารณะ และสถานที่ทำงาน