กฎหมายใหม่ 'อัตราดอกเบี้ย' การแก้ไขยังไม่รอบด้าน
ทำความเข้าใจ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ที่รัฐบาลออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราที่สูงเกินควร แต่จะสามารถแก้ปัญหากรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระได้ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน?
จากปัญหาทางสภาพเศรษฐกิจในประเทศช่วงที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างสูง สภาพเศรษฐกิจที่ไม่คล่องตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไม่น้อย ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปต่างก็ต้องรับภาระหนี้สินที่มากขึ้น และจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้
ด้วยเหตุนี้เอง ทางภาครัฐบาลซึ่งเป็นห่วงต่อสภาพการณ์ดังกล่าว จึงได้เร่งรัดการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูกิจการ และลดภาระลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมถึงเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้จากการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม จึงได้ออก “พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564” มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตรา หรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร ดังได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
สาระสำคัญคือ
(1) หากไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในนิติกรรมให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุก 3 ปี ให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์
(2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัด ปรับเป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และ
(3) กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น
โดยสรุปสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข คือ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้บังคับกับหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ นับตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับแล้วเท่านั้น ซึ่งก็คือวันที่ 11 เม.ย.2564 ดังนั้น หนี้ที่ถึงกำหนดชำระก่อนหน้านั้น ยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเดิม
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลดีต่อลูกหนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัด หรือการคิดคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดเมื่อต้องผ่อนส่งเป็นงวด เพราะแม้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้สูง จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้
แต่กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเนื่องด้วยเหตุปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาระหนี้สินในส่วนดอกเบี้ยที่สูงจะยิ่งเพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้ลูกหนี้ผิดนัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้ทัน อีกทั้งเจ้าหนี้บางรายอาจใช้การประวิงเวลาการฟ้องคดีเพื่อให้ได้เงินจำนวนมากขึ้นจากดอกเบี้ยดังกล่าวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เคยมีอยู่ และยังไม่มีการแก้ไขคือ ปัญหาเรื่องของเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัด กฎหมายกำหนดเพียงว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนด... ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น...” หากตีความกันตรงๆ จึงหมายความว่า เจ้าหนี้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงเพียงใดก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่เป็นการบรรเทาภาระหนี้สินของลูกหนี้ตามวัตถุประสงค์ของการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้
ที่ผ่านมา แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการตีความว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วน เป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลสามารถปรับลดลงได้ตามที่เห็นสมควร หรือการตีความให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วน ตกเป็นโมฆะและให้บังคับใช้ได้เฉพาะส่วนที่ไม่สูงเกินส่วน ด้วยเหตุผลว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในลักษณะดังกล่าวนั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
อย่างไรก็ดี แนวทางแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าวนั้น ก็มีประเด็นปัญหาในตัวเอง อันได้แก่การที่จะต้องมีการดำเนินคดีทางศาล ซึ่งอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อีกทั้งมีความไม่แน่นอนเพราะขึ้นกับดุลยพินิจของศาลอีกด้วย
แนวทางการกำหนดเพดานสำหรับดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ควรคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ว่าจะไม่เป็นภาระต่อลูกหนี้จนเกินพอดี ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อตัวลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพราะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาหนี้เสียที่มีสาเหตุจากภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับที่สูงขึ้นเกินกำลังของลูกหนี้อีกด้วย นอกจากนี้แล้วอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้นั้น ควรสะท้อนต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้ ต้นทุนค่าเสียโอกาสของเจ้าหนี้จากการที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และต้องสะท้อนความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ด้วย
ดังนั้นแล้วก็ได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายโดยพิจารณาเรื่องของเพดานสำหรับดอกเบี้ยผิดนัดไว้ด้วย