'กรณ์' ชี้ 'รัฐ' จ่อทุ่ม5หมื่นล้าน อุ้ม 'การบินไทย' ไม่ตอบโจทย์
“กรณ์” แนะคลัง พื้นฟูการบินไทย โจทย์ใหญ่ต้องไม่ให้มีฝ่ายการเมือง หรือราชการครอบงำ ชี้ ภาษี 50,000 ล้านต้องคุ้มค่า
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุคส่วนตัว เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณีการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย ว่า ตนผิดหวัง กับแนวทางการฟื้นฟู ตามที่กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ใน 2 ทางเลือก คือ 1. ให้รัฐใส่ทุนด้วยเงินภาษี จำนวน 25,000 ล้านบาท และค้ำประกันหนี้ใหม่ จำนวน 25,000 ล้านบาท รวม 50,000 ล้านบาท และ 2. หากรัฐไม่ใส่ทุนก็ต้องค้ำประกันหนี้ใหม่ทั้งหมด รัฐค้ำด้วยเงินของรัฐ ก็หมายความว่าการบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ หากบริษัทไปได้ดี มีกำไรในอนาคต รัฐแทบไม่มีโอกาสได้ส่วนแบ่ง เพราะต้องคืนเจ้าหนี้เก่า ในขณะที่เจ้าหนี้ใหม่ สามารถเปลี่ยนหนี้มาเป็นทุนได้สูงถึง 90% ของทุนทั้งหมด สิ่งที่ควรได้เห็นแต่ผู้เสนอแผนไม่ได้ทำ คือ การยืนยันกับเจ้าหนี้เพื่อลดหนี้เดิม ซึ่งหนี้ที่ไม่ได้ลดลงคือสาเหตุหลักที่ทำให้การบินไทยไม่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนใหม่ได้เลย ต้องกลับมาขอเงินรัฐ ก็คือเงินภาษีของประชาชน ทั้งนี้ตนมองว่าหากรัฐบาลเลือกแนวทางใช้เงินอุ้มบริษัทการบินไทย รัฐบาลต้องให้คำตอบที่ชัดเจนกับประชาชน
“จริงๆ แล้วครั้งนี้ การบินไทยมีโอกาสที่จะรอดมากที่สุด เพราะได้ปรับลดค่าใช้จ่าย อาทิ การจ้างพนักงาน เพราะมีพนักงานเสียสละลาออก รวมถึงลดเงินเดือนตัวเอง ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมันหรือค่าการตลาดลงโดยรวมถึงเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ด้วยโครงสร้างหนี้จึงทำให้ไม่มีใครพร้อมลงทุน ดังนั้นรัฐบาลต้องมีคำตอบว่าการอุ้มการบินไทยรอบใหม่นี้ คนเสียภาษีได้อะไร ถ้าไม่อุ้มล่ะ ถ้าเจ้าหนี้ยอมที่จะปล่อยให้บริษัทต้องล้มละลาย ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหนี้อาจจะได้เงินคืนเพียง 10% ของวงเงินสินเชื่อเดิม จะส่งผลยังไงต่อประชาชนคนไทย” นายกรณ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวเสนอแนะต่อการฟื้นฟูการบินไทย ด้วยยว่า โจทย์ที่รัฐบาลต้องทำ คือ ยืนยันไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือราชการเข้าไปครอบงำการบินไทย รวมถึงต้องให้เจ้าหนี้เดิมรับสภาพตามสถานะที่แท้จริงของบริษัท ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหนี้บางประเภท เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ควรมีมาตรการต่างหากที่จะเยียวยาตามความจำเป็น ส่วนกรณีที่รัฐบาลเลือกใส่เงินลงทุนนเพิ่ม ต้องให้สัดส่วนลงทุนที่มากกว่ากับนักลงทุนเอกชน ทั้งนี้ตนมองว่ามีโอกาสที่จะฟื้นฟูการบินไทยและปลดแอกจากทุกภาระ แต่อย่าใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อรักษาองค์กรในรูปแบบเดิมไว้ และหากรัฐไม่เจรจาเงื่อนไขที่ดีกว่านี้ ตนมองว่าควรนำเงิน 50,000 ล้านบาท ทำประโยชน์เรื่องอื่น เช่น ช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี ให้รอดจากพิษเศรษฐกิจ, เร่งเยียวยาประชาชนในรูปแบบต่างๆ จะเหมาะสมกว่า.