สอท.เสนอกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน รับมือระลอก 3 ลากยาวปลายปี

สอท.เสนอกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน  รับมือระลอก 3 ลากยาวปลายปี

ส.อ.ท. แนะรัฐบาลกูเงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจรับมือผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบ 3 ที่อาจจะยาสไปถึงไตรมาส 4

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว 283 โครงการ วงเงิน 762,902 ล้านบาท จึงทำให้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเพิ่มเพื่อรับมือการระบาดโควิด-19 ระลอก 3

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในระลอก 3 มีความรุนแรงกว่า 2 ระลอกแรก ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรง ดังนั้น ส.อ.ท.จึงเสนอให้รัฐบาลควรเร่ง กู้เงิน เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท มาเตรียมการไว้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจใน 2564 เพราะขณะนี้ภาคเอกชนได้รับผลกระทบรุนแรง และมีเพียงเม็ดเงินจากภาครัฐที่เข้ามาพยุงเศรษฐกิจได้

162065432717

รวมทั้งวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใกล้จะหมดลงแล้ว แต่สถานการณ์การระบาดกลับรุนแรงมากขึ้น และอาจลากยาวถึงไตรมาส 3-4 ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมเงินให้พร้อม รวมทั้งเมื่อดูหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังขยายวงเงินกู้ได้ เพื่อเข้ามาพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เสียหายและรักษาอัตราการจ้างงาน ซึ่งหากไม่มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยเหลืออาจกระทบเศรษฐกิจระยะยาว

“ปัจจุบันธนาคารยังเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายที่ไม่มีประวัติการกู้ยืมจากธนคาร ทั้งที่มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่เน้นช่วยเหลือลูกค้ารายเดิม ดังนั้นต้องการให้ธนาคารขยายการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการ”

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะโฆษก สศช.กล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดสรรเงินกู้ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว 283 โครงการ วงเงิน  762,902 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ 237,097 ล้านบาท แต่ ครม.เห็นชอบในหลักการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือประชาชนจากโควิด-19 ระลอก 3 เพิ่มอีก 235,500 ล้านบาท และวงเงินที่เหลืออยู่ยังเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ 

สศช.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเตรียมรายงานแนวทางการเตรียมความพร้อมในเรื่องแหล่งเงินในการรองรับวิกฤติตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายให้ ครม.รับทราบ