หนี้เสียเคลียร์ได้! เปิดขั้นตอนเข้า 'มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้' ปลดหนี้ 'บัตรเครดิต' และ 'สินเชื่อส่วนบุคคล'
ไม่ไหวอย่าฝืน เปิดขั้นตอนการเข้าร่วม "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" ตัวช่วย "ปลดหนี้" และ "แก้หนี้เสีย" สำหรับหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ลงทะเบียนได้ถึง 30 มิ.ย. 64
"หนี้" ภาระที่หลายคนกำลังประสบปัญหา เมื่อรายได้ลดลง หรือขาดรายได้ เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ที่ลากยาวมามากกว่า 1 ปี และมีแนวโน้มว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อไปอีก ตราบใดที่โควิดยังระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้ทั้งหนี้ดีที่เพิ่งเริ่มได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยลดภาระการชำระหนี้ และแก้หนี้สำหรับคนที่มีหนี้เสีย เพื่อแก้ปัญหาการเงินในระยะยาว
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมขั้นตอนการเข้าร่วม "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์" ที่สามารถลงทะเบียนได้ 30 มิ.ย. 64 โดยมีเงื่อนไข รายละเอียดที่ต้องรู้ พร้อมขั้นตอนลงทะเบียนเบื้องต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 'เราชนะ' ลงทะเบียนรับ 'เงินเยียวยา' เพิ่ม 2,000 บาท ต้องทำอย่างไร เงินเข้าวันไหน ?
- 'ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3' รายใหม่ 16 ล้านสิทธิ เตรียมตัว! รายเก่าแค่กดยืนยัน รับ 'เงินเยียวยา' 3 พันบาท
- 'ม.33เรารักกัน' รับ 2,000 บาท 'เยียวยาโควิด' รอบใหม่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ?
- 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' รอก่อน! 'เงินเยียวยา' 1,200 บาท ต้องรอหลัง ก.ค.64
- เช็คเงื่อนไข มาตรการ 'ลดค่าไฟ-ค่าน้ำ' 2 เดือน เยียวยาโควิด รอบ 3
โดยแบ่งคุณสมบัติผู้ที่สามารถเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยหนี้ได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง กลุ่มที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา และกลุ่มที่เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งจะมีการช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- กลุ่มที่หนึ่ง
ผู้ที่เป็นหนี้บัตรฯ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง หรือหนี้บัตรฯ ดี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ "โควิด 19" ท่านสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยหยุดการจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าหนี้จะลด และขอเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตร มาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา
ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยถูกลง จาก 16% เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิตโดยสามารถคงวงเงินที่เหลือไว้ใช้ได้ และประวัติ "เครดิตบูโร" จะไม่เสีย
- กลุ่มที่สอง
เป็นหนี้บัตรฯ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4%-7% ตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้
- กลุ่มที่สาม
เป็นหนี้บัตรฯ เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้เจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมให้ผ่อนยาว แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 23 แห่งที่ร่วมโครงการ เห็นความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้
โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้น นานสูงสุด 5 ปี และยกดอกเบี้ยที่ค้างให้หากลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ
- วิธีเข้าร่วม "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้"
สามารถสมัครเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ได้ 4 ช่องทางหลักๆ ได้แก่
1. เว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรม https://mediation.coj.go.th/
2. เว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led.go.th
3. เว็บไซต์ ธปท. www.bot.or.th หรือ https://www.1213.or.th/App/DMed/V1
4. หากไม่สะดวกในการกรอกข้อมูลออนไลน์ สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213 ในช่วงวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของ ธปท.จะได้ติดต่อกลับไป
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย