‘แอสเสท เวิรด์’เคลื่อนบิ๊กโปรเจค ปั้น'ไอคอนิคแลนด์มาร์ก'รอตลาดฟื้น
ท่ามกลางวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่เล่นงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเผชิญสภาวะบอบช้ำมานานกว่า 1 ปี! เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์แสนล้าน “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC
เจ้าของธุรกิจโรงแรม บริการ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ สินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2563 กว่า 1.24 แสนล้านบาท หนึ่งกิจการภายใต้อาณาจักร “ทีซีซี กรุ๊ป” ของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ยังคงเดินหน้าลงทุนมุ่งต่อยอดมูลค่าสินทรัพย์ต่อเนื่อง
วัลลภา ผู้กุมบังเหียนใหญ่แห่ง AWC ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเผชิญวิกฤติโควิดระลอก 3 ภายในประเทศ AWC ได้จัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Planning : BCP) และเตรียมไว้หลากหลายซีนาริโอ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลมาตรฐานสุขอนามัยในส่วนของลูกค้า พนักงาน การบริหารแผนการลงทุนให้เหมาะสม การเตรียมความพร้อมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ทั้งทีมงาน การตลาด การขาย การทำแพ็คเกจโปรแกรมต่างๆ
“เมื่อตลาดกลับมา เราจะก้าวกระโดดหรือเติบโตรับดีมานด์ได้เร็วแค่ไหน คือโจทย์และภารกิจสำคัญที่ต้องเตรียมการรองรับไว้อย่างดีที่สุด โดยอสังหาฯ ในเครือ AWC เป็น Trusted Brand หรือแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า จากการร่วมงานกับเชนรับบริหารโรงแรมระดับโลกซึ่งร่วมกันวางแผนงานเหล่านี้เตรียมไว้”
วัลลภา ย้ำว่า จังหวะเวลาของการลงทุน! หรือการเปิดให้บริการโครงการต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ระหว่างสุญญากาศของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในเวลานี้ AWC กำลังเร่งพัฒนา “รูฟท็อป เดสติเนชั่น” แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ 5 ชั้นบนสุดของตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานให้เช่าเจ้าของความสูง 58 ชั้น ย่านสาทร ใช้ชื่อว่า “เอญ่า” (EA) เป็นภาษาฮาวาย มีความหมายว่า ชีวิต อากาศ และลมหายใจ เป็นชื่อที่มองว่าเข้ากับสถานที่มากๆ ทั้งยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
โดยใช้งบลงทุนสำหรับรูฟท็อปแห่งนี้กว่า 500 ล้านบาท มีพื้นที่กว่า 8,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยรูฟท็อปขนาดใหญ่ที่สุด (Biggest Rooftop) ร้านอาหารและบาร์หลากหลายแบบ รวมถึงพื้นที่สำหรับจัดอีเวนท์และงานประชุม รองรับลูกค้าเป้าหมายที่มีไลฟ์สไตล์แบบแคชชวลและลักชัวรี
"เราเตรียมแผนเปิดตัวเอญ่าปลายปีนี้ให้ทันช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ โดยหวังว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้ว รวมถึงการเร่งกระจายวัคซีนจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ ถ้าประเทศไทยกลับมา นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา เป็นจังหวะเดียวกับที่รูฟท็อปเดสติเนชั่นปักหมุดเป็นจุดหมายไฮไลท์สำหรับการชมวิวในย่านซีบีดีของกรุงเทพฯ น่าจะอยู่ในโมเมนตัมที่ดี”
AWC ยังเดินหน้าลงทุนโปรเจคยักษ์ อย่างโครงการพัฒนาตึกสูงระฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นแลนด์มาร์กระดับไอคอน (Iconic Landmark) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ บริเวณลานจอดรถปัจจุบัน คาดใช้เวลาพัฒนาเกินกว่า 5 ปี ขณะนี้กำลังปรับแบบกันอยู่ โดยภายในตึกสูงจะประกอบด้วย โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนด์ระดับท็อปของเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เข้ามารับบริหาร นอกจากนี้ มีโรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ อีกแบรนด์หรูภายในตึกเดียวกัน รวมถึง ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิส เรสซิเดนส์ ด้วย
“ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยวในระยะยาว จึงเดินหน้าโปรเจกตึกสูงริมน้ำเจ้าพระยา เมื่อสร้างเสร็จอาจเป็นตึกสูงสุดของเมืองไทย แต่เป้าหมายของเราไม่ได้มุ่งทำตึกสูงสุด แต่ต้องการพัฒนาให้เป็นไอคอนิกแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ใครมาเที่ยวกรุงเทพฯ ต้องมาถ่ายรูปกับตึกนี้ ขึ้นมาชมวิวบนตึกนี้”
ส่วนการพัฒนาโรงแรมใหม่อีกแห่งในเอเชียทีคฯ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนเจริญกรุง ในชื่อ “โรงแรมเอเชียทีค โฮเทล ออโตกราฟ คอลเลคชั่น” เป็นแบรนด์ของเครือแมริออทฯ เช่นกัน เดิมจะเร่งสร้างโรงแรมนี้เพื่อเปิดบริการภายใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ขณะนี้ปรับแผนใหม่ ไม่เร่งสร้าง! เลือกชะลอก่อน เปลี่ยนมาดูโอกาสใหม่ ทั้งด้านดีมานด์และซัพพลาย โดยขยับแผนไปเปิดภายใน 5 ปีข้างหน้าแทน พร้อมโครงการใหญ่ตึกสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้านโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่แห่งใหม่ “AWC Center Pattaya” ใจกลางเมืองพัทยา ยังคงเดินหน้าตามแผนงานเดิม ประกอบด้วยแหล่งชอปปิง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมหรู 2 แบรนด์ในตึกเดียวกัน ว่าจ้างเครือแมริออทฯ รับบริหาร ได้แก่ โรงแรมพัทยา แมริออท มาร์คีส์ เจาะตลาดนักเดินทางกลุ่มประชุมสัมมนา และโรงแรมเจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา ตั้งเป้าดึงดูดนักเดินทางยุคใหม่ และกำลังศึกษาว่าอาจเพิ่มแบรนเด็ด เรสซิเดนส์เข้าไปด้วย
ช่วง 5 ปีนี้จะเห็น “กลุ่มค้าปลีก” ของ AWC มีการทรานส์ฟอร์ม โดยมีโครงการค้าปลีกที่จะพัฒนาเพิ่มบนที่ดินต่อเนื่องของเอเชียทีคฯ เป็นเดสทิเนชั่นใหม่ที่พัฒนาด้วยแนวคิดใหม่ตอบโจทย์ “Enhance New Lifestyle” โดยยังใช้ชื่อโครงการเอเชียทีคฯ เช่นเดิม แต่เป็นเอเชียทีคฯ ที่ผ่านการทรานส์ฟอร์มมาแล้ว
ขณะเดียวกันยังเตรียมโมเดลธุรกิจใหม่ หรือทรานส์ฟอร์มสู่ “ออมนิชาแนล” ด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่จะเป็นเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์เชื่อมต่อ “ออฟไลน์-ออนไลน์” ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการของธุรกิจในเครือทั้ง 4 เซ็กเตอร์ ได้แก่ โรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก และค้าส่ง เช่น แพลตฟอร์ม AWC Connext ของธุรกิจโรงแรม แพลตฟอร์ม Phenixbox ของธุรกิจค้าส่งซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 4 มิ.ย. เป็นวันเดียวกับการเปิดงานแสดงสินค้า Food Destination Center ระหว่างวันที่ 4 มิ.ย.-31 ส.ค.นี้ ที่พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ตอกย้ำโฟกัสธุรกิจค้าส่งอาหารด้วยแนวคิดมากกว่าการจัดแสดงสินค้า (Beyond Exhibition)
“แพลตฟอร์ม Phenixbox เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ AWC พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับโมเดลการค้าส่งรูปแบบใหม่ที่ต้องตอบโจทย์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในระยะยาว ผู้ค้าออนไลน์สามารถสั่งซื้อของออนไลน์โดยตรงกับผู้ผลิตเพื่อนำของมาขายปลีกทางออนไลน์อีกต่อ นี่คือโมเดลใหม่ของการค้าส่งที่จะช่วยเสริมประสบการณ์ออนไลน์ นอกเหนือจากการมาเดินชอปปิงที่พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ที่จะไม่ใช่การขายแบบดั้งเดิมอีกต่อไป”
สำหรับ การเปิดให้บริการโรงแรมใหม่อื่นๆ นั้น เดิม AWC ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวว่าไตรมาส 3 จะต้องเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่เมื่อเผชิญการระบาดของไวรัสโควิดทั้งระลอก 2 และ 3 ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดโรงแรมใหม่ในปีนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ไตรมาส ได้แก่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ซึ่งรีแบรนด์จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า อิมพีเรียลแม่ปิง กำหนดเดิมเปิดตัวปลายปีนี้ ต้องขยับไปเปิดไตรมาส 2 ปี 2565 แทน ขณะที่โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ขยับเปิดปลายปีนี้แทน เพื่อรอดีมานด์ฟื้นตัว
ส่วนโรงแรมใหม่ที่ภูเก็ต เป็นการรีแบรนด์จากโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต ตั้งอยู่ใจกลางเมืองภูเก็ต ใช้ชื่อใหม่ “โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ต ทาวน์” จะเร่งเปิดให้ได้ภายในปีนี้ตามแผน สอดรับไทม์ไลน์ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” พื้นที่นำร่องของไทยในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัว วันที่ 1 ก.ค.นี้