'เป็นหนี้' จนโดน 'ฟ้องศาล' ควรทำอย่างไร ?
ควรทำอย่างไรเมื่อ "เป็นหนี้" และ "ผิดนัดชำระ" จน "เจ้าหนี้" "ฟ้องศาล" พร้อมวิธีเตรียมตัวเมื่อต้องไปขึ้นศาล และสิ่งที่ "ลูกหนี้" ควรรู้ เมื่อผิดนัดชำระหนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด-19" ที่ต่อเนื่องยาวนาน และมีท่าทีที่รุนแรงขึ้นทุกวัน กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบเงินในกระเป๋าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับคนมี "หนี้" สถานการณ์นำไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้การผิดนัดชำระ เลื่อนขั้นไปสู่การ "ฟ้องศาล" จาก "เจ้าหนี้" แทน
ไม่ว่าการถูกฟ้อง ด้วยสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้จะมีต้นเหตุจากโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่ออยู่ในสถานะของจำเลยแล้วจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นและดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อเรียกต้องความ "เป็นธรรม" ให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวน "ลูกหนี้" มารู้จักวิธีการเตรียมตัวเและสิ่งที่ต้องทำเบื้องต้นเมื่อถูกเมื่อถูก "ฟ้องศาล"
- ผิดนัดชำระนานแค่ไหน ถึง "โดนฟ้องศาล"
ถ้าค้างจ่ายครบ 3 เดือนก็เข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL) หากลูกหนี้กับเจ้าหนี้ยังตกลงกันไม่ได้ หรือลูกหนี้ไม่ยอมติดต่อ ผ่านไประยะหนึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ เพื่อให้กรอบกฎหมายดูแลให้ลูกหนี้คืนเงินที่ได้กู้ยืมไป
และถ้าคดีสิ้นสุดมีคำพิพากษา และยังไม่มีการชำระหนี้กัน ก็จะนำไปสู่การสืบทรัพย์ และเข้าสู่การบังคับคดี ได้แก่ การอายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์-ขายทอดตลาด ทำให้เส้นทางชีวิตของลูกหนี้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาลและกรมบังคับคดี
- ไม่ได้รับหมายศาล = ไม่ได้ถูกฟ้อง?
ใครที่คิดว่า ไม่ได้รับหมายศาล = ไม่ได้ถูกฟ้อง เป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะในทางกฎหมาย หากหมายศาลถูกส่งถึงบ้านจะถือว่า ลูกหนี้ได้รับแล้ว จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับไม่ได้
เมื่อถูกฟ้องจะมี "หมายศาล" ส่งไปตามที่อยู่ใน "ทะเบียนบ้าน" ลูกหนี้มีหน้าที่ตรวจสอบจดหมายที่ส่งไปยังที่อยู่นี้ แต่ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่บ้านตามทะเบียนบ้านจริงด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากรู้ตัวว่าผิดนัดชำระนี้มากกว่า 3 เดือน แล้วอยากรู้ว่าโดนฟ้องหรือยัง? สามารถตรวจสอบได้จากศาลในเขตอำนาจตามทะเบียนบ้าน เพื่อดูว่ามีคดีแพ่งที่ฟ้องเราแล้วหรือไม่
เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่ได้รับหมายศาลของ ญาติ หรือใครก็ตามมายังทะเบียนบ้านของตนเอง อย่าลืมรีบหาทางติดต่อเจ้าของเพื่อให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 'สินเชื่อสู้ภัยโควิด' จาก 'ออมสิน' เคยกู้ 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' แล้ว ขอกู้ได้อีกหรือไม่ ?
- 'หนี้เสีย' จ่ายไม่ไหว ไปไหนดี? รวมช่องทางช่วยลูกหนี้หนี 'โควิด-19' รอบใหม่
- ควรทำอย่างไรเมื่อถูกฟ้อง ?
อย่างแรกคือ ไม่ต้องตกใจ เมื่อลูกหนี้ได้รับหมายศาลมาแล้ว มีหน้าที่ "อ่านให้เข้าใจ" ว่าศาลต้องการสื่ออะไร และสำหรับหมายศาลแรกที่ลูกหนี้ได้รับในฐานะจำเลยจะเป็นการเรียกให้ไปยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในเวลาที่กำหนดนับจากวันที่รับหมาย อาทิ 15 วัน
หมายความว่า ศาลไม่คิดจะฟังความข้างเดียว ต้องการเชิญให้ลูกหนี้เข้าไปให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในศาลด้วย จึงไม่มีเหตุต้องตกใจ หรือคิดฟุ้งซ่านใด ๆ ที่สำคัญ คดีแพ่งไม่มีการติดคุก
ในการอ่านหมายศาล ควรตรวจสอบ 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1) หมายเลขคดี
2) ศาลไหน เพราะประเทศไทยมีศาลทั่วประเทศ
3) ประเด็นที่เจ้าหนี้ต้องการฟ้อง
4) จำนวนเงินที่ฟ้องตรงกับหนี้สินที่เกิดขึ้นหรือไม่ รายการใดไม่ตรงกับสัญญา
5) เจ้าหนี้ฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
กล่าวคือ เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญา ก็จะถือว่าผิดนัดชำระ หากเจ้าหนี้ต้องการจะดำเนินคดีเพื่ออาศัยอำนาจศาลให้ลูกหนี้ติดต่อเพื่อชำระหนี้ ก็ต้องฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนด โดย "อายุความ" ของคดีเริ่มนับจากวันผิดนัดชำระหรือวันที่ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ได้แก่
- หนี้บัตรเครดิต 2 ปี
- สินเชื่อส่วนบุคคล 5 ปี
- หนี้จากเงินกู้ยืมแบบผ่อนคืนเป็นงวด 5 ปี
- ทำไมควรไปศาลตามนัด
การ "ไปศาล" เป็นการแสดงเจตนาว่า เราขอชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามข้อเสนอของเจ้าหนี้ได้ ทั้งนี้ "หากลูกหนี้ไม่ไปศาล" เท่ากับเสียสิทธิในการต่อสู้ และหมดโอกาสเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ ทำให้ศาลจำเป็นต้องพิพากษาตามคำฟ้องและเหตุผลของเจ้าหนี้เพียงด้านเดียว โดยที่ลูกหนี้ไม่ได้ชี้แจง ทำให้ต้องชำระหนี้เต็มอย่างไม่มีทางเลือก
เมื่อต้องไปศาล มีสิ่งที่ควรจะเตรียมความพร้อม ไว้เบื้องต้นดังนี้
- ควรไปก่อนเวลานัด 30 นาที
- ตรวจสอบและเตรียมเอกสาร เช่น บัตรประชาชน หากมีผู้ค้ำประกันต้องไปศาลด้วย หรือมอบอำนาจต้องมีสำเนาบัตรประชาชนผู้ค้ำฯ ด้วย
- เตรียมคำอธิบายเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาทิ รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม ต้องดูแลครอบครัว และเตรียมประเด็นต่อสู้ เช่น การคิดดอกเบี้ยเกินจริง ข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง เป็นต้น
- ต้องรู้! ถูกฟ้องแล้ว ยังเจรจาหนี้ได้
หลังจากที่ลูกหนี้ถูกฟ้องแล้ว ลูกหนี้ยังสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ จนได้ข้อยุติในการชำระหนี้คืนแล้ว ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งเป็นการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิพากษาตามยอม ซึ่งจะผูกพันทั้งสองฝ่าย
โดยลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย สามารถทำสัญญายอมฯ ได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความให้เสียเงินค่าใช้จ่าย เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ศาลและศาลช่วยตรวจสอบความถูกต้องและเป็นธรรมให้อยู่แล้ว อีกทั้งการทำสัญญายอมฯ ในศาลนั้น
จะทำให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เจ้าหนี้ด้วยบางส่วน ทำให้ลูกหนี้รับภาระในส่วนนี้น้อยลง และสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในค่าทนายความของเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้ผิดสัญญา เจ้าหนี้สามารถดำเนินการบังคับคดีกับลูกหนี้ได้ทันที
- หลังศาลพิพากษาแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิและหน้าที่อะไรบ้าง?
"ลูกหนี้" มีหน้าที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยลูกหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภายในเวลา 1 เดือนนับแต่วันพิพากษา
หากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ต้องติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระเงิน พร้อมทั้งขอให้เจ้าหนี้ชะลอการบังคับคดี
โดยเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะตกลงหรือปฏิเสธก็ได้ เช่น ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินก้อน แต่ถ้าลูกหนี้ต้องการขอผ่อนชำระ ขึ้นกับเจ้าหนี้ว่าจะยอมหรือไม่
หากลูกหนี้ชำระคืนหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้จะตามสืบว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้างและอยู่ที่ไหน ทำงานอยู่ที่ไหน หากเจอก็จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และศาลจะแจ้งไปยังกรมบังคับคดีให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ และ/หรือ อายัดเงินเดือน
1) ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เช่น ที่ดิน บ้าน เมื่อทรัพย์ถูกยึดแล้ว ก็จะถูกนำออกขายทอดตลาดได้ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้
2) อายัดเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสงเคราะห์ โบนัส เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน เงินฝากในบัญชีธนาคาร เงินปันผล ค่าเช่าที่ลูกหนี้ได้รับ แต่จะไม่อายัดทั้งหมด ต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้บ้าง เช่น
- เงินเดือน อายัดไม่เกิน 30% ของอัตราเงินเดือนก่อนหักรายจ่าย และต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท
- เบี้ยเลี้ยงชีพ-ค่าล่วงเวลา-เบี้ยขยัน อายัดไม่เกิน 30% ของเงินที่ได้รับ
- เงินโบนัส อายัดไม่เกิน 50% ของเงินที่ได้รับ
- เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน อายัดได้แต่ต้องเหลือไม่น้อยกว่า 300,000 บาท
จะเห็นได้ว่าการถูกฟ้อง คือสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้เอาใจใส่ เพื่อเข้าใจหลักคิดในกระบวนการยุติธรรม พร้อมกับดูแลและปกป้องตัวเองได้ถูกต้อง และไม่ส่งผลกระทบกับเงินกระเป๋ามากเกินกว่าที่ควรจะเป็น
อ้างอิง : บทความ "สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม" โดย ชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล, อาทิตา ผลเจริญ