การสร้างพลัง 'ความร่วมมือระหว่างประเทศ' เพื่อฟื้นวิกฤติ
เปิดบทวิเคราะห์ประเทศไทยจะจัดการโควิด-19 รวมทั้งโรคระบาดที่จะมาในอนาคตได้อย่างไร? และจะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้วิกฤติต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง?
ประเทศต่างๆ ในโลกต้องเผชิญวิกฤติข้ามพรมแดนมากขึ้นเนื่องจากความเชื่อมโยงภายในประเทศ และระหว่างประเทศมากขึ้น โดยวิกฤติข้ามพรมแดนนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยกลไกระดับประเทศ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติสิ่งแวดล้อม หรือวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบไปทั่วโลกในเวลานี้
แต่นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด แต่ละประเทศพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ปกป้องคนและเศรษฐกิจในประเทศ กักตุนและกีดกันการส่งออกอุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์การแพทย์ มีความช่วยเหลือกันบ้าง แต่ไม่ใช่ความร่วมมือระดับโลก จึงทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ
การที่ประเทศไทยจะจัดการโควิด-19 รวมทั้งโรคระบาดที่จะมาในอนาคตได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งผมอยากจะเสนอบทเรียน ดังนี้
1.ระยะการอุบัติของวิกฤติ : Global Leadership โลกไม่มีผู้นำในการแก้วิกฤติ ขาดความรู้ความเข้าใจ ข้อมูลไม่ชัดเจนทำให้สับสน บางประเทศยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรง เช่น แพทย์ที่เตือนทางการจีนเรื่องการระบาดถูกทางการจีนสอบสวนในข้อหาปล่อยข่าวลือ หรือแม้แต่การที่องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลผิดพลาดในหลายประเด็น เป็นต้น
ระยะนี้จึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อโรคให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจะออกแบบการจัดการโรคระบาดได้เร็วและมีประสิทธิผล ดังนั้น มหาอำนาจต้องแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลก โดยรวมศูนย์การสื่อสารข้อมูลระดับโลกที่น่าเชื่อถือ ร่วมมือศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับโรค พัฒนา Early Warning System สำหรับวิกฤติด้านสุขภาพของโลก เพื่อเตือนให้ทุกประเทศรู้เร็วที่สุด รวมทั้งพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นต้น
2.ระยะแรกของการระบาด : Global Task Force หลายประเทศไม่รู้ว่าจะรับมือกับวิกฤติอย่างไร ผู้คนตื่นตระหนก มีการกักตุนอุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์ทางการแพทย์ บางประเทศจัดการได้ดี แต่บางประเทศมีปัญหา
ในระยะนี้ต้องทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน ทำให้โลกมีแบบแผนในการจัดการการระบาด ซึ่งทำได้โดยการจัดตั้ง “Global Task Force” ว่าจะจัดการโรคระบาดอย่างไร มีการร่วมลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในการรับมือกับโรคระบาด พัฒนากลไกการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งแบ่งปันเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในการจัดสรรทรัพยากรในภาวะวิกฤติโควิด และร่วมมือกันผลิตและกระจายอุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น
3.ระยะที่เชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว : Global Lockdown ในระยะที่มีการระบาดรวดเร็ว แพร่กระจายข้ามพรมแดน ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคยังมีจำกัด ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคและไม่มียารักษาโรค ประเทศต่างๆ ต้องจำกัดแวดวงการระบาดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยวิกฤติที่เข้าสู่ระบบสาธารณสุขและลดผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจ
การจัดการวิกฤติระยะนี้ หากล็อกดาวน์ระดับจุลภาคและทำเพียงลำพังปัญหาอาจจบในระยะสั้น แต่ต่อไปการระบาดจะย้อนกลับมาอีก เพราะพื้นที่ระดับจุลภาคต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ดังนั้น ผมจึงส่งความคิดถึงท่านนายกรัฐมนตรี (16 มี.ค.2563) เสนอให้ไทยเป็นแกนนำในการเจรจาริเริ่มทำข้อตกลงกับ 224 ประเทศ และเขตดินแดนทุกแห่งผ่านยูเอ็นให้เกิดการล็อกดาวน์ระดับโลก
4.ระยะพัฒนาวัคซีน : Global Research Collaboration วัคซีนเป็นคำตอบของการหยุดยั้งการระบาด แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาวัคซีนเป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่ร่วมมือกัน ทำให้มีโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จำนวนมาก โดย 10 ชนิด กำลังถูกฉีดให้กับคนทั่วโลกและมีอีกมากกว่า 200 ชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งข้อดีคือโอกาสสำเร็จสูง แต่ข้อเสียคือซ้ำซ้อนและใช้งบไม่มีประสิทธิภาพ
ในระยะนี้โลกควรพัฒนาวัคซีนให้รวดเร็ว ใช้ทรัพยากรและงบประมาณในการพัฒนาวัคซีนอย่างคุ้มค่า ผมจึงเสนอให้โลกพัฒนาความร่วมมือวิจัยและพัฒนาวัคซีนระดับโลก เช่น พัฒนาแหล่งทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีนระดับโลก สร้างเวทีหรือช่องทางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาวัคซีนระดับโลก เป็นต้น
5.ระยะกระจายวัคซีน : (Pandemic) Global Fund เมื่อโลกพัฒนาวัคซีนได้แล้ว อาจเกิดการผูกขาดด้านการผลิต และกระจุกตัวของการเข้าถึงวัคซีน คนในประเทศร่ำรวยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แต่ประเทศยากจนยังเข้าถึงวัคซีนได้น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้การระบาดจะยังไม่จบ เพราะยังมีหลายประเทศที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
เป้าหมายในระยะนี้คือ ประเทศทั่วโลกได้รับวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลก ซึ่งผมเสนอว่าควรมีการจัดตั้ง Pandemic Global Fund โดยสร้างความร่วมมือรัฐบาลทุกประเทศ เพื่อลงขันกันวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยา และเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อแจกจ่ายหรือขายให้กับประเทศยากจนในราคาถูก
6.ระยะการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ : Global Redistribution การทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องฉีดวัคซีนกับคนจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ในที่สุดภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดในบางกลุ่มประเทศก่อน ได้แก่ ประเทศร่ำรวย ประเทศผู้ผลิตวัคซีน แต่ประเทศที่มีประชากรน้อย ยากจนจะยังไม่ได้รับวัคซีน คนในประเทศเหล่านี้ยังมีการแพร่ระบาดและในที่สุดอาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นได้อีก
ในระยะนี้ควรกระจายวัคซีนให้ระดับโลกให้เร็วที่สุด ผมจึงเสนอว่าควรมีกลไกระดับโลกเพื่อเกลี่ยวัคซีนจากประเทศที่มีมาก จูงใจให้นำวัคซีนส่วนเกินไปฉีดในประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ทั้งโดยการขอบริจาค ขอยืม และขอซื้อ รวมทั้งมีการกระจายวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ของเชื้อโรค วิจัยวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เฉพาะถิ่น และจูงใจและอาจจะบังคับให้ประชาชนต้องฉีดวัคซีน เช่น ออกวัคซีนพาสปอร์ต บังคับให้ผู้ให้บริการทุกชนิดต้องฉีดวัคซีน เป็นต้น
7.ระยะการฟื้นฟูผลกระทบ : Global Synchronization การระบาดและการล็อกดาวน์หลายครั้งทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้ผู้คนทั่วโลกยากลำบาก โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย
เป้าหมายในระยะนี้คือ ร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมเสนอให้โลกร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก เพื่อให้เงินช่วยเหลือและเงินกู้แก่ประเทศต่างๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลทุกประเทศร่วมมืออัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ รวมทั้งเปิดเสรีการค้าการลงทุนให้มีเงินลงทุนเข้ามาซื้อหรือเพิ่มทุนให้กิจการที่มีปัญหา เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วและไม่ติดเชื้อ รวมทั้งพักชำระหนี้ให้ประเทศยากจนเพื่อลดภาระหนี้ และนำงบประมาณไปใช้เรื่องสาธารณสุขในช่วงวิกฤติ เป็นต้น
ความร่วมมือระดับโลกนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละประเทศย่อมสนใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติตัวเองก่อน อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าในอนาคตวิกฤติข้ามพรมแดนจะเกิดมากขึ้น ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องถูกบังคับให้ร่วมมือกันมากขึ้นในที่สุดครับ