‘ระเฑียร’ ภารกิจปั้น XSpring ศูนย์กลางการเงิน-ลงทุนดิจิทัล
สร้างเสียงฮือฮาในอุตสาหกรรมการเงินไม่น้อย หลังบมจ.แสนสิริ (SIRI) ประกาศเข้าถือหุ้นในบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ในสัดส่วน 15% ด้วยเงินลงทุนมูลค่าราว 1.6 พันล้านบาท
พร้อมนั่งแท่นผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่ง โดยเอ็กซ์สปริง หรือชื่อเดิมบมจ.ซีมิโก้ แคปปิตอล (ZMICO) กลับมาอยู่ในสายตาของนักลงทุนอีกครั้ง หลังจากเดือน ก.พ.2564 บริษัทฯ แต่งตั้ง “ระเฑียร ศรีมงคล” เป็นประธานกรรมการ
ในการนี้ “ระเฑียร” ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” เผยว่า ในช่วง 3 เดือนก่อน (เดือน ก.พ.) ที่ตนเข้าซื้อ เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร โดยมีความเชี่ยวชาญในโลกการเงินยุคปัจจุบันผ่านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จํากัด (KTZ) และโลกการเงินดิจิทัลผ่านบริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด (SE Digital)
อย่างไรก็ดียอมรับว่าเงินทุนของบริษัทฯ อาจไม่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ สะท้อนจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับประมาณ 2,600 ล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564) ส่งผลให้บริษัทฯ ตัดสินใจเพิ่มทุนผ่านการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งรวมถึงการเสนอขายให้แก่ แสนสิริ จำนวน 1,035 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 4.10 บาท มูลค่าราว 4.2 พันล้านบาท
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) จำนวน 5,378 พันล้านหุ้น ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 0.5 บาท มูลค่าราว 2.6 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะได้เงินจากการเพิ่มทุนรวมมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท
“ขณะเดียวกันเราก็มีไลเซ่นส์ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ และเราก็อยากจะทำทางด้านนี้ให้ครบวงจร ซึ่งถ้าหากจะทำให้ครบวงจรจะต้องมีการลงทุนระบบและบุคลากร ผมจึงคิดว่าจำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนให้เพียงพอสำหรับบริษัทที่มีหมุนต่อไปข้างหน้า และเราต้องวางแผนยาว ถ้าเราทำต้องทำครั้งเดียว”
นอกจากนี้เมื่อพิจารณากระแสการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ พบว่าภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุด ขณะที่ในประเทศ แสนสิริ ถือเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสม เพราะผู้บริหารมีความสนใจขยายการลงทุนไปยังธุรกิจการเงินดิจิทัล อีกทั้งยังมีจุดแข็งจากการมีอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การดูแลหลากหลายประเภท รวมถึงมีความมั่นคงทางธุรกิจสะท้อนจากชื่อเสียงและระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา
โดยการมุ่งเน้นการเติบโตผ่านธุรกิจการเงินแบบดิจิทัลของเอ็กซ์สปริงฯ สอดคล้องกับมุมมองของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างแสนสิริ ที่ต้องการให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ล่าสุด บริษัทฯเตรียมเสนอขาย “โทเคนดิจิทัล” เพื่อการลงทุน สิริ ฮับ (SIRIHUB Token) มูลค่าระดมทุน 2,400 ล้านบาท จำนวน 240 ล้านโทเคน โดยนำกระแสรายรับค่าเช่าอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัสมาเสนอขายแก่ผู้ลงทุนในราคา 10 บาทต่อโทเคน ทั้งนี้เจ้าของสินทรัพย์คือ บริษัท เอสพีวี 77 จำกัด โดยมีแสนสิริเป็นผู้เช่าสินทรัพย์ อายุการเช่า 12 ปี
ขณะที่การเสนอขายแบ่งเป็น 1. สิริ ฮับ-A (SIRIHUB-A) มูลค่า 1,600 ล้านบาท จำนวน 160 ล้านโทเคน อัตราดอกเบี้ย 4-4.5% ต่อปี ซึ่งนักลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนภายหลังการประมูลขายเมื่อครบอายุ 4 ปีและ 2.สิริ ฮับ-B (SIRIHUB-B) มูลค่า 800 ล้านบาท จำนวน 80 ล้านโทเคน อัตราดอกเบี้ย 8-8.5% ต่อปี จะได้รับเงินที่เหลือจากราคาขายตึกภายหลังหักเงินต้น 1,600 ล้านบาทของโทเคนชุดแรก อีกทั้งมีโอกาสได้รับกำไรส่วนเพิ่มหากราคาประเมินในอนาคตปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน (แบบ filing) ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสนอขายแก่นักลงทุนได้ช่วงต้นเดือน ก.ค. โดยกำหนดขั้นต่ำการลงทุน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 แสนบาทสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยตามเกณฑ์ของก.ล.ต.
“ตึกนี้ประเมินมูลค่าจากบริษัทประเมินที่ก.ล.ต.รับรอง ที่ราคาประมาณ 2,400 กว่าล้านบาท และมีโอกาสน้อยมากที่ในอนาคตราคาประเมินจะปรับตัวลงต่ำ เพราะมีผู้เช่าระยะยาวอย่างแสนสิริอยู่ แม้ดิจิทัลโทเคนจะเปรียบเสมือนการระดมทุน แต่ผมจะไม่ใช้คำว่าระดมทุน เพราะเรามองว่าเราสร้างสินค้าที่ใช้ในการลงทุนให้กับฐานลูกค้าของเรา เราให้โอกาสลูกค้าของเราลงทุนสินค้าทุกประเภท ดิจิทัลโทเคนก็เป็นสินทรัพย์หนึ่งในการลงทุน ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบกับโลกรุ่นเก่าอย่างรีท หรือหุ้นกู้ก็ได้”
นอกจากการเสนอขายโทเคนแล้ว เอ็กซ์สปริงฯ มีแผนนำความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของแสนสิริมาเสริมการดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในการเข้าซื้อหนี้เสียที่เป็นสินเชื่อบ้านเข้ามาบริหาร รวมถึงกระบวนการดำเนินการปรับปรุงก่อนขายทอดตลาดอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันเอ็กซ์สปริงฯ เริ่มศึกษาและเข้าประมูลหนี้เสียประเภทดังกล่าวแล้ว โดยมีเป้าหมายทำความเข้าใจตลาด เข้าซื้อหนี้เสียในราคาที่เหมาะสม และจะเน้นหนี้ที่มีความสามารถกลับมาชำระเงินได้
ขณะที่แผนการดำเนินงานในปี 2564 นอกเหนือจากการผนึกกับแสนสิริแล้ว บริษัทมีแผนการปรับปรุงบริษัทในเครือ เช่น การรีแบรนด์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อินโนเทค จํากัด เป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จํากัด เป็นต้น รวมถึงมีแผนขยายกำลังคนเพิ่มเพื่อเสริมทีมในธุรกิจต่างๆ พร้อมกันนี้เอ็กซ์สปริงฯ ยังเดินหน้าขอไลเซ่นส์จากสำนักงาน ก.ล.ต.เพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทฯ เป็นศูนย์รวมการลงทุนทั้งในโลกเก่าและใหม่ อาทิ นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) เป็นต้น จากปัจจุบันมีไลเซ่นส์เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)
“จากงบลงทุนที่มีและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน คาดว่าในปี 2564 บริษัทฯ มีโอกาสพลิกมาทำกำไรอีกครั้ง จากปีก่อนที่ขาดทุน 16.62 ล้านบาท โดยได้ปัจจัยหนุนจากธุรกิจโบรกเกอร์ที่กลับมาทำกำไร สอดคล้องกับตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายกันอย่างคึกคัก รวมถึงกำไรจากการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการปรับปรุงธุรกิจในกลุ่มให้กลับมาเติบโตผ่านการขยายฐานนักลงทุน”