ข้อพึงระวังของ 'พอร์ตเกษียณ'
เปิดข้อพึงระวัง ก่อนจะเริ่มวางแผนจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับเกษียณ มีอะไรบ้าง?
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน ในช่วงที่ตลาดทุนมีความผันผวนอย่างมากทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล รวมถึงความกังวลอันเนื่องมาจากโควิด-19 ทำให้หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น ทั้งลงทุนตรงในตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือเริ่มวางแผนจัดพอร์ตการลงทุนโดยที่แต่ละคนอาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บ้างเพื่อผลกำไรจากการลงทุนสั้นๆ เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือเพื่อเป็นแหล่งรายได้ในอนาคต ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างไรก็นับเป็นเรื่องดีที่คนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
วันนี้ผมอยากเขียนเรื่องของข้อพึงระวังในการวางแผนจัดพอร์ตเกษียณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำมาปรับใช้ในการจัดพอร์ต ข้อพึงระวังข้อแรกคืออย่ามองเป้าหมายในแง่ดีเกินไป ทุกท่านคงทราบว่าการลงทุนมีความเสี่ยงและเมื่อความเสี่ยงมากขึ้น นักลงทุนก็ต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงนั้น ทำให้การลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงหลายตัวเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนในอดีตมักจะให้ตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ทำให้เวลาจัดพอร์ตบางที่เราจะโน้มเอียงไปทางพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนสูง อีกอย่างผลตอบแทนนั้นเข้าใจได้ง่ายกว่าความเสี่ยงซึ่งติดมากับพอร์ตที่เราจัดเสมอ
ดังนั้นเวลาจัดพอร์ตไม่ผิดที่เราจะมองที่ค่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่คาดหวัง แต่อยากให้มองเพิ่มอีกผลตอบแทนหนึ่งซึ่งปรับด้วยความเสี่ยง และให้เรามองที่กรอบความเป็นไปได้ของพอร์ตเกษียณของเราภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ใช่ค่าเฉลี่ย โดยอยากให้โฟกัสไปที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในด้านที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แล้วนำมาพิจารณาดูว่าเราสามารถรับได้กับผลลัพธ์นั้นๆหรือไม่ เช่นถ้าค่าเฉลี่ยให้ผลลัพธ์ออกมาที่ 10 ล้านบาท แต่ผลลัพธ์ภายใต้ระดับความมั่นใจที่ 70 ออกมาที่ 3 ล้านบาท เรายังโอเคกับพอร์ตนี้หรือไม่ ถ้าไม่เราอาจต้องมีการปรับแผนการลงทุนใหม่
ข้อควรระวังต่อมาคืออย่าตั้งความต้องการใช้เงินหลังเกษียณที่ต่ำเกินไป ดังที่เราได้ประจักษ์ถึงความรุนแรงของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของเราในช่วงที่ผ่านมา เราไม่รู้ว่าในอนาคตหลังจากที่เราเกษียณจะมีวิกฤติไหนเกิดขึ้นอีก รวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของเงินเกษียณของเรา ดังนั้นอยากให้เราพิจารณาถึงความต้องการใช้เงินหลังเกษียณให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งเรื่องของสุขภาพ เงินเฟ้อ หรือเงินที่ต้องเผื่อเอาไว้ยามฉุกเฉิน การมีเงินที่มากเกินไปยังดีกว่ามีไม่พอใช้
ข้อพึงระวังต่อมาคือช่วงท้ายๆ ของแผน เป็นช่วงที่เราควรระมัดระวังให้มาก หรืออาจจำเป็นต้องวางแผนปรับพอร์ตให้มีความเสี่ยงที่ลดลงเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนเลยก็ได้ เรามักเข้าใจว่าการลงทุนทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอเป็นการลดความเสี่ยงหรือเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คาดหวังมากเกินไป
ลองดูตัวอย่างง่ายๆ นี้ สมมติว่าเราออมเดือนละ 10,000 บาทในตลาดหุ้น เดือนแรกพอร์ตเราเป็น 1 หมื่นบาท สมมติว่าหุ้นตก 10% เดือนต่อมาเราออมอีก 1 หมื่นบาท ซึ่งเงินนี้ซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าเงินก้อนแรก ดังนั้นมันก็เหมือนเป็นการเฉลี่ยผลตอบแทนตามที่เราเข้าใจ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาผม ข้ามไปอีก 19 ปีข้างหน้าสมมติอีกว่าพอร์ตนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ร้อยละ 10 และถ้าเป็นไปตามนี้เราน่าจะมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณประมาณ 7.6 ล้านบาท ทีนี้ถ้าในช่วงปีสุดท้ายนี้ตลาดหุ้นตก 10% เงินในพอร์ตของเราตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาท เงินของเราจะหายไป 7 แสนบาท แม้ว่าเราจะลงทุนอีก 1 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับ 7 ล้านบาทในพอร์ตย่อมไม่สามารถเปรียบเทียบหรือถัวเฉลี่ยกันได้
ดังนั้นเหมือนที่หลายคนเคยพูดกันว่าเมื่ออายุมากขึ้นให้ระวังต่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การลงทุนรายเดือนเป็นเรื่องดีในการสร้างวินัย และเป็นการสร้างพอร์ตการลงทุนในยามที่เราไม่ได้มีเงินก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งดีแต่มันไม่ได้ช่วยกำจัดความเสี่ยงจากการลงทุนได้
ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรงและโชคดีกับการลงทุนครับ