คกก.โรคติดต่อ กทม.เห็นชอบแนวทางดูแลแคมป์คนงานหลักสี่ ล่าสุด ตรวจ 1,667 คน ติดเชื้อ 1,107 คน ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน
ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ ซึ่ง กทม.ได้เข้าดำเนินการ Swab ครบทั้งหมดแล้ว 1,667 คน ผลพบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,107 คน คิด 66.41% ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้สำนักการแพทย์ดำเนินการมาตรการที่กำหนดคือการควบคุมพื้นที่ ในลักษณะเดียวกับ Community Isolation ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของแรงงาน รวมทั้งมีการดูแลสุขอนามัยของผู้ที่อยู่ในแคมป์ มีการส่งมอบอาหารปรุงสุกและอาหารแห้ง และการจัดให้มีทีมแพทย์ดูแลรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ติดเชื้ออยู่ภายใน แต่หากมีผู้มีอาการป่วยจะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ยังเห็นชอบแนวทางการดูแลแคมป์คนงานก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ แคมป์คนงานก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับแคมป์คนงานเขตหลักสี่ โดยผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถทำงานได้ตามปกติ และในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้างที่ไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง ให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในพื้นที่แคมป์ซึ่งเจ้าของต้องจัดให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย และผู้ที่ไม่ติดเชื้อที่ต้องเดินทางไปทำงานจะต้องแจ้งเส้นทางการเดินทางต่อเขตต้นทางและปลายทาง โดยจะต้องไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง และปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ในวันนี้กรุงเทพมหานครได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในแคมป์คนงานก่อสร้างให้แก่ผู้ประกอบการแคมป์คนงาน 409 แห่ง ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบและเข้าใจเป็นแนวทางเดียวกัน ประกอบด้วย มาตรการคัดกรอง มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป
มาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยสำนักอนามัยและสำนักงานเขตพื้นที่ลงพื้นที่ตรวจสอบในแคมป์คนงานที่อยู่ในพื้นที่อย่างเข้มงวดต่อไป รวมทั้งสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานจะได้สนับสนุนการตรวจคัดกรองคนงานก่อสร้างในแคมป์คนงานจำนวน 30,000 คน ซึ่งไม่รวมกับที่กรุงเทพมหานครดำเนินการอยู่ หากพบผู้ติดเชื้อ สำนักงานประกันสังคมจะนำสู่ระบบการรักษาต่อไป โดยที่ประชุมมอบหมายให้สำนักการแพทย์ติดตาม รวบรวม และประเมินผลการดำเนินงานการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างทั้งหมด เพื่อนำแนวทางมาใช้ในการดูแลพื้นที่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครอื่นๆ ต่อไป หากพบผู้ติดเชื้อในตลาดเกิน 5 % หรือ 10 คนขึ้นไป ให้ปิด 14 วัน
ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ตลาดบางกะปิ โดยมีการแพร่กระจายของโรคในตลาด 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดสดลาดพร้าว ซ.123 ตลาดสดลาดพร้าว123 ตลาดสดบางกะปิ ตลาดคุณอาภาภรณ์ และตลาดบางกะปิ ซึ่งขณะนี้ได้มีคำสั่งปิดตลาดทั้ง 5 แห่ง จนถึงวันที่ 22 พ.ค.64 เพื่อให้การดำเนินการควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครจึงเห็นชอบให้ขยายเวลาปิดตลาดออกไปอีก 14 วัน เพื่อให้สำนักอนามัยและเขตพื้นที่เข้าไปให้คำแนะนำและตรวจสอบ ให้เจ้าของตลาดปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของตลาดให้ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งจัดทำบัญชีผู้ค้า แผงค้า ลูกจ้างให้ครบถ้วน อย่างไรก็ตามในขณะนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อในตลาดพื้นที่อื่นๆเพิ่มเติม ที่ประชุมจึงเห็นชอบแนวทางการปิดตลาด 14 วัน หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อร้อยละ 5 ของจำนวนแผงค้าและลูกจ้างที่อยู่ในตลาดทั้งหมด หรือมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยให้เจ้าของตลาดทำความสะอาดพร้อมปรับปรุงกายภาพของตลาดให้มีมาตรฐานตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด
จัดทีมตรวจเชิงรุกกระจาย 6 กลุ่มเขต ต่อเนื่องถึง 30 ก.ย.64
คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้สำนักอนามัย จัดทีมลงพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (Active Case Finding หรือ ACF) ด้วยการ SWAB อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยกำหนดลงพื้นที่ ดังนี้ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ : ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก : สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษามีนบุรี เขตมีนบุรี กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง : ลานกีฬาพัฒน์ 2 เขตราชเทวี กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ : วัดด่าน เขตยานนาวา กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ : สวนหลวงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัดและสวนป่าเฉลิมพระเกียรติสะพานตากสิน เขตคลองสาน และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ : ตลาดบางแคภิรมย์ ทั้งนี้จะหมุนเวียนไปยังพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด และพื้นที่ที่ชุมชนอื่นๆ เพื่อลดการเดินทางของประชาชนให้ได้มากที่สุด