'ระบบอุปถัมภ์' สมบูรณ์แบบ ปัญหา'ปฏิรูปการเมืองไทย'เหลว
อดีตกรรมการป.ป.ช. ฉายภาพให้เห็นถึงอุปสรรคในการเดินหน้า "ปฏิรูปการเมือง" ตามที่ "พล.อ.ประยุทธ์" เคยประกาศไว้ แต่เพราะความเกรงใจ และต้องการกลับเข้ามา จึงต้องอาศัยนักการเมือง
การปฏิรูปประเทศหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านการเมือง แต่ผ่านมา 7 ปี มุมมองของคนในสังคมประเมินผลกันอย่างไร
“วิชา มหาคุณ” อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มองการปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ยุค คสช. จนถึงปัจจุบันอย่างไม่อ้อมค้อมว่า "พูดตรงๆ การปฏิรูปการเมืองไม่คืบหน้า แม้จะพยายามทำในด้านต่างๆตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ภาพรวมดูน่าจะสำเร็จเพราะรัฐบาลมีอำนาจ มีสรรพกำลัง แต่การปฏิรูปยังทำไม่สำเร็จ"
อาจารย์วิชา ระบุว่า ถ้าไปถามคนในองค์กร หรือในกระบวนการที่จะแก้ไข เขาก็ต้องคิดว่า ของเดิมมันดีอยู่แล้ว จะต้องไปปฏิรูปอะไร ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่าปฏิรูป เขาคิดว่าการปฏิรูปนั้นคือการปรับปรุง การปรับปรุงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำงานไปมันก็ต้องปรับปรุง หรือปะผุ “แต่การปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ต้องออกแบบ”
+ ปฏิรูปการเมือง เริ่มที่ลดเหลื่อมล้ำ +
อาจารย์วิชา ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมถึงการ Design thinking ของสิงคโปร์ ที่มีความคิดในเชิงออกแบบ สมัยนายลี กวน ยู ครองอำนาจ มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้ประเทศอยู่ได้ ลี กวน ยู ทำเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากการอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมานานซึ่งทำให้คนสิงคโปร์ไม่อยากทำอะไร และในยุคนั้นมีเรื่องการรับเงินใต้โต๊ะ
“การจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ใช่การแจกเงิน แต่ต้องสร้างคนให้มีพลังในการทำงานร่วมมือร่วมใจกัน และมีกองทุนของประเทศไปลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อนำเงินมาสร้างชาติไม่เคยมีใครคิดเรื่องนี้มาก่อน มีแต่ไปกู้เขา การให้คนรอรับแต่เงิน มันไม่ใช่การแก้ปัญหาในเรื่องปฏิรูป การปฏิรูปต้องให้เขาร่วมกัน ขจัดความเหลื่อมล้ำให้หมดไป”
สิงคโปร์เขาตั้งเงินเดือนให้คนที่มีความเสี่ยงเช่น นักการเมือง ผู้พิพากษา ผู้บริหารราชการแผ่นดิน สูงมาก จะได้ไม่ต้องไปกินใต้โต๊ะ แต่เมื่อยังมีคนประพฤติมิชอบ ทุจริตอยู่ เขาจัดการเด็ดขาด แม้เป็นคนข้างกาย เป็นรัฐมนตรีที่ตั้งมา ก็ให้องค์กรที่ตรวจสอบอำนาจรัฐซึ่งให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ จับกุมแบบไม่เห็นแก่หน้าใคร กวาดล้างอยู่ไม่นานก็เรียบร้อย
พร้อมกับสร้างความคิดของพลเมืองในแนวนโยบายของรัฐ ให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษาเรียนรู้ว่าจะวางนโยบายให้ประเทศได้อย่างไร ซึ่งมี Lee Kuan Yew School of public policy ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อให้สถาบันการศึกษากล่อมเกลาผู้คน รัฐธรรมนูญของสิงคโปร์วางรากฐานเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่วางรากฐานการเมือง การปกครอง แล้วจึงออกกฎหมายหรือออกแบบการเมืองอย่างไรถึงจะสอดคล้องระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เพื่อที่จะไม่ต้องพึ่งพาทางการเมือง ไม่ต้องรับเงินเวลาไปออกเสียง ของเราเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่สนใจ กระบวนการทางการเมืองมันไม่ได้อยู่ที่สภา กระบวนการทางการเมืองมันอยู่ที่ความกินดีอยู่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำ
+ ดึง“รุ่นใหม่-เก่า”ร่วมคิด ไม่เกิดชู 3 นิ้ว+
“ที่สิงคโปร์ คนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า มาร่วมคิดร่วมกันทำกันจริงๆ มาออกแบบด้วยกัน ไม่ใช่เอาคนมาเป็นไม้ประดับ แล้วจะไม่เกิดกรณีการชู 3 นิ้ว เพราะให้โอกาสเขา มาช่วยกันคิดให้ตกผลึกคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมาปกครองประเทศต่อไปคิดอย่างไร ถ้าคุณฝ่าด่านที่ต้องให้เหตุผลไปไม่ได้ว่าทำไมคุณถึงเปลี่ยนตรงนี้ คุณก็ต้องยอมเขา บางส่วนที่ยากยังไปไม่ได้ก็เอาเฉพาะส่วนที่ปฏิรูปได้จริงๆ ซึ่งการปฏิรูปในเรื่องที่ยาก ก็ต้องเริ่มที่การปฏิรูปการศึกษา”
+ ปฏิรูปตำรวจถูกขวาง ไม่ให้คืบหน้า +
ขณะที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 60 ที่ถูกขนานนามว่าเป็น“ฉบับปราบโกง” เขียนไว้ดีมาก ทั้งการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปตำรวจ และด้านต่างๆ แต่การลงมือปฏิบัติยังมีปัญหา “ผมไปร่วมคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หลังจากคดีบอส อยู่วิทยา สังคมก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ ให้องค์กรตำรวจรับใช้และเป็นที่พึ่งประชาชนมากขึ้น แต่ก็มีความพยายามขัดขวางไม่ให้คืบหน้า”
มันไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่จะต้องทำ แล้วธรรมนูญก็เขียนเอาไว้ให้ทำให้สำเร็จ แต่ไส้ในมันไม่ได้เปลี่ยน เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย ต้องมีการวางระบบให้ชัดเจน การให้พนักงานสอบสวนมีอิสระก็มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ที่จะแยกออกมาเป็นอิสระ จะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้บังคับบัญชา ไม่เช่นนั้นจะสั่งไม่ได้ แล้วจะปฏิรูปตรงไหน มันจึงไม่สำเร็จ การไม่กล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า ก็เพราะต้องพึ่งพาอาศัยกัน
“ยังคิดอยู่ว่าตอนนั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเป็นศูนย์รวมของแม่น้ำทุกสาย ท่านน่าจะเข้มแข็งกว่านี้ น่าจะไม่ลูบหน้าปะจมูก เอาจริงเอาจัง แต่ในที่สุดท่านต้องเกรงใจ เพราะว่ามีAgenda อยู่ว่า ท่านจะต้องกลับเข้ามา เมื่อต้องกลับเข้ามาก็ต้องอาศัยนักการเมือง เมื่อต้องการจะได้คะแนนเสียง จากการตั้งพรรค ก็เป็นที่รวมของนักการเมือง เพราะฉะนั้นท่านก็จะไม่กล้า”
+ ระบบอุปถัมภ์สมบูรณ์แบบคือปัญหา +
อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ผู้นี้มองว่า ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีอำนาจเต็มมือ เคยประกาศเจตนารมย์จะปฏิรูปการเมือง ให้ได้นักการเมืองน้ำดี แต่กลับทำไม่ได้ เป็นเพราะคนรอบข้างไม่ได้ตอบสนองความต้องการ เพราะมีความคิดว่าคนที่จะเอาเข้ามาต้องเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เป็นคนใกล้ชิด “ปัญหาของบ้านเมืองเรา เป็นระบบอุปถัมภ์แบบสมบูรณ์แบบ” ยิ่งใกล้ชิดยิ่งเกรงใจไม่สามารถจะคัดค้านอะไรได้
การจะปฏิรูปกระบวนการทางการเมือง หมายความว่าต้องไม่เกรงใจ เราไม่เคยลองสิ่งใหม่ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นช่วงหนึ่งสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นครั้งแรก วางระบบตรวจสอบ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและยึดทรัพย์ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เกรงใจ แม้จะรู้จักกัน และเป็นคนที่อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลานาน ไม่มีใครกล้าทำแบบนี้กระบวนการแบบนี้จึงต้องเด็ดขาด
หรืออย่างนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน มีมอตโต้ว่า เป็นเสือก็ต้องปราบ เป็นยุงก็ต้องตบ ต้องกวาดล้างหมด นี่คือความเด็ดขาดต้องมาก่อน และประเทศจีนก็ยังได้เดินตามแนวทางที่ประสบความสำเร็จของนายลี กวน ยู แก้ปัญหาปากท้องก่อนอันดับแรก
+ ยกเกาหลีใต้ปราบการเมืองสีเทาสำเร็จ +
อาจารย์วิชา หยิบยกกรณีศึกษาจาก เกาหลีใต้ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะใช้ระบบการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองอย่างเข้มงวด ก่อนเข้ามาเป็นนักการเมืองก็ต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน แล้วต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ใช่เข้ามามีตำแหน่งแล้วถึงจะยื่น ความคิดคนละอย่างกับไทย เกาหลีใต้ให้มีองค์กรตรวจสอบของประชาชน เปิดโอกาสให้ตรวจสอบอย่างกว้างขวาง มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่ให้ถือว่าหมิ่นประมาท หรือ Anti-Slapp laws
เช่น บางคนเมื่อรู้ถึงประวัติ ว่ามีพฤติกรรมไม่ดี ข้อมูลจะไม่หายไปไหน ในช่วงเลือกตั้งจะประกาศให้คนรับรู้ว่า คนคนนั้นเคยมีพฤติกรรมอย่างไรมาก่อน เอาเงินสกปรกจากไหนมาเข้าสู่การเมือง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่เอาชนะเรื่องนี้มาได้ เพราะการตรวจสอบโดยประชาชน เวลาเลือกตั้งคนเกาหลีใต้ไม่เลือกคนเก่า จนกระทั่งตอนนี้นักการเมืองรุ่นเก่าที่คอร์รัปชันเกือบจะหมดแล้ว มีแต่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเกาหลีใต้จะไม่สามารถยกระดับประเทศขึ้นมาได้ถ้ายังเหมือนเก่า เขาต่อสู้จนผลักดันกฎหมายคุ้มครององค์กรตรวจสอบของประชาชนได้สำเร็จ
จะเห็นว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คนระดับประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ มีเครือญาติไปทุจริต ถึงกับต้องกระโดดเขาตาย นั่นคือการปฏิรูปครั้งสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ แต่ของไทยยังไม่พีค
“ก็แล้วแต่ประเทศไทย ถึงจุดที่คิดว่ามันไปไม่ไหวแล้วหรือยัง ต้องช่วยกันคิด” อดีตกรรมการป.ป.ช.ทิ้งท้ายด้วยประเด็นที่ชวนคนไทยให้ร่วมกันคิด