‘เฟาซี’-ก.สาธารณสุขสหรัฐจี้หาต้นตอเชื้อโควิด-19 รอบ2
‘เฟาซี’-ก.สาธารณสุขสหรัฐจี้หาต้นตอเชื้อโควิด-19 รอบ2หลังนักวิจัยชาวจีน 3 รายที่สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่นรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ย.ปี2562 หรือ 1 เดือนก่อนที่จะมีการยืนยันการค้นพบไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีนอย่างเป็นทางการ
นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของทำเนียบขาว และผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐ เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)สืบสวนที่มาของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง โดยเน้นย้ำความโปร่งใสของกระบวนการเป็นหลัก เพื่อให้เข้าใจต้นตอของการระบาดของโรคโควิด-19
นายฮาเวียร์ เบเซร์รา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐ ส่งข้อความผ่านคลิปวิดีโอสำหรับการประชุมรัฐมนตรีประจำปีของสมัชชาองค์การอนามัยโลก ที่เรียกร้องให้มีการเริ่มกระบวนการดังกล่าวอีกครั้ง โดยระบุว่า การสืบสวนในระยะที่ 2 ต้องมีข้อกำหนดที่โปร่งใสอ้างอิงตามหลักการวิทยาศาสตร์ และให้อิสระแก่ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติเพื่อทำการประเมินที่มาของไวรัสและรายละเอียดของการเกิดการระบาดในช่วงต้นๆ ได้อย่างเต็มที่
หลังการสืบสวนครั้งแรกที่ใช้เวลาดำเนินการ 4 สัปดาห์ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค. ปี2562 ดับเบิลยูเอชโอ ออกแถลงการณ์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของจีนเกี่ยวกับภารกิจดังกล่าวเมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวไม่ได้หลุดมาจากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านไวรัสในเมืองอู่ฮั่น แต่สหรัฐ และรัฐบาลของหลายประเทศแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการสืบสวนทั้งหมด ที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากจีน ขณะที่นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูเอชโอ เห็นด้วยว่า ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของไวรัสนี้
อย่างไรก็ตาม แม้นายเบเซร์รา จะไม่ได้มีการกล่าวพาดพึงถึงจีนในคลิปวิดีโอที่ส่งไปยังที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกในวันอังคาร เนื้อหาของข้อความทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เมื่อวันอาทิตย์ ที่อ้างอิงคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐที่ระบุว่า นักวิจัยชาวจีน 3 ราย ที่สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ย.ปี2562 หรือ 1 เดือนก่อนที่จะมีการยืนยันการค้นพบไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีนอย่างเป็นทางการ