บทจบ ’หมอพร้อม’ เพราะไม่พร้อม !? ถูกเบรก หลังเปิดลงทะเบียนจองฉีด ‘วัคซีนโควิด-19’ ได้ 26 วัน
ย้อนรอย 26 วัน “หมอพร้อม” จากวันแรกของการเปิดลงทะเบียนจองฉีด “วัคซีนโควิด-19” จนถึงวันที่ถูกสั่งเบรก ใครกันแน่ที่ไม่พร้อม
ในที่สุด หมอพร้อม ระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งชะลอการลงทะเบียนออกไปก่อน โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. ให้รายละเอียดระหว่างการแถลงรายงานสถานการณ์ โควิด-19 วันที่ 26 พ.ค. 64 ถึงการให้ชะลอการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อมออกไปก่อน แต่ฟังก์ชั่นการติดตามผลการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 รวมทั้ง การออกใบรับรองการฉีดวัคซีน ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ
ล่าสุด จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม 28 ก.พ. - 25 พ.ค. 2564 มีจำนวนฉีดสะสมรวม 3,147,227 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 2,157,609 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 989,618 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านระบบการจัดการวัคซีนให้กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งจากสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาด รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ที่พุ่งเป้าการฉีดวัคซีนจากเดิม 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส เป็นทั้งความหวัง และคำถามของผู้คนในสังคมมากมาย โดยเฉพาะ ปมปัญหาการจัดการวัคซีนที่สะเทือนถึงระบบลงทะเบียนอย่าง หมอพร้อม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้อัพเดทแพลตฟอร์ม "หมอพร้อม" เวอร์ชั่น 2 เพื่อรองรับการ "ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด" ของประชาชนทั่วไป ซึ่งครอบคลุมทั้งช่องทางไลน์ออฟฟิเชียล (LINE Official Account) และแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม รวมถึงยังสามารถไปติดต่อได้ที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่
มีการแบ่งกลุ่มช่วงเวลาของการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไว้หลักๆ คือ รอบแรก เปิดให้ 2 กลุ่มที่สามารถเข้ามาลงทะเบียน ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ขณะที่ประชาชนทั่วไป อายุ 18-59 ปี สามารถเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564
ทันทีที่เปิดลงทะเบียนปรากฎว่า ระบบล่มจนต้องมีการออกมาขอความร่วมมือให้ 2 กลุ่มแรกเข้ามาลงทะเบียนก่อน พร้อมทั้งยอมรับว่า ยังมีข้อติดขัดในการลงทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบหมอพร้อมอยู่
ล่วงเลยมาถึงช่วงบ่ายของวันที่ 13 พ.ค. 64 ยอดการลงทะเบียน หมอพร้อม นั้นอยู่ที่ 3,091,871 คน ซึ่งถือว่ายังห่างจากเป้าหมาย 16 ล้านคนที่ตั้งเอาไว้อย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยจัดสัดส่วนการให้บริการ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มาจากระบบนัดหมายผ่านไลน์และแอปพลิเคชัน หมอพร้อม ร้อยละ 30, กลุ่มนัดหมายจากโรงพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และโรคอ้วน ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 หรือน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม ร้อยละ 50 และกลุ่มที่ Walk in เดินเข้ามาขอรับบริการ ร้อยละ 20
ทั้งนี้ สามารถปรับสัดส่วนบริการได้ตามความเหมาะสมและสถานการณ์จริงหน้างาน รวมทั้งให้จังหวัดเตรียมจัดระบบเช็คจำนวนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแบบ real time
เมื่อมีข่าวออกไปกลับเกิดความสับสนให้กับประชาชนว่า ตกลงแล้ว ตนเองสามารถ Walk in เข้าไปฉีดได้เมื่อไหร่ และมีอีกหลายคนที่เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปลองลงทะเบียนใน หมอพร้อม แต่ก็ไม่สามารถลงได้
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมา เบรก ประเด็นของการ Walk in ฉีดวัคซีน เนื่องจากกังวลถึงความวุ่นวายในการจัดการ ขณะเดียวกัน ก็ให้หน่วยงานไปปรับปรุงและแก้ปัญหาแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อให้พร้อมใช้ อย่าให้เกิดปัญหาประชาชนลงทะเบียนไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- อัพเดท 'โควิดวันนี้' 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม.พุ่ง 975 จับตาเพชรบุรี สงขลา ตาก
- ประกาศ! 'ศบค.' สั่งเบรก 'หมอพร้อม' ชี้นายกฯสั่งจัดสรรวัคซีนโควิดเกณฑ์ใหม่
- ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ตายหนัก! เสียชีวิตสูงถึง 41 ราย ติดเชื้อเพิ่ม 2,455 ราย
อีกทั้งยังย้ำเรื่องวัคซีนว่า ไม่ต้องให้ใครให้ข่าว ให้ ศบค.เป็นคนให้ข่าวแห่งเดียว และอะไรที่ได้ข้อสรุปแล้วถึงค่อยออกมาพูด โดยกรณีดังกล่าว อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สธ. ได้รับลูกว่าตามที่นายกฯ สั่งการ
ขณะเดียวกัน ในเวลาต่อมาก็ได้มีการแยกส่วนระบบการจัดการลงทะเบียนฉีดวัคซีน นอกจาก หมอพร้อม ขึ้นมาด้วย
อย่างที่ จ.นนทบุรี ได้มีการเชิญชวนทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนฉีดวัคซีน ณ สนามฉีดนอกโรงพยาบาล ผ่าน ระบบ นนท์พร้อม
ด้าน จ.ภูเก็ต นั้นได้เปิดแพลตฟอร์มลงทะเบียน ฉีดวัคซีน ผ่าน www.ภูเก็ตต้องชนะ.com เพื่อรอ SMS แจ้งให้เลือกวัน เวลา สถานที่ฉีดวัคซีน ให้ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มของ ภูเก็ต นั้น ยกเลิกนัดจาก หมอพร้อมให้เรียบร้อยด้วย
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ก็เพิ่งเปิดตัวรูปแบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ กทม. ผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com ที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ วันที่ 27 พ.ค.64 เป็นต้นไป และจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.64
จนในที่สุด ก็นำไปสู่การประกาศ ชะลอการลงทะเบียนจองฉีด วัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อม โดยแนะนำให้ จังหวัดอื่นๆ จะนำโมเดลของ กทม. หรือ นนทบุรี หรือภูเก็ต ไปใช้ในพื้นที่ของตัวเอง หรือจะไปที่โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ยังใช้ได้ทั้งหมด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ยังกล่าวถึงแผนการแจกจ่ายวัคซีน จากเดิมใช้เกณฑ์เดิม จังหวัดที่จองเท่าไหร่ ก็จัดสรรโควต้าไปตามนั้น ปรากฏว่า มีบางจังหวัดจองจำนวนมาก การติดเชื้อน้อย ก็มีประเด็นขึ้นมา แต่ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ เลขาฯ สมช. ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ได้ประชุมหารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ อธิบดีกรมควบคุมโรค เห็นว่า เพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องมีเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น
1. เกณฑ์การติดเชื้อ อาทิ จ.เพชรบุรี ที่มีผู้ติดเชื้อหลักพันราย จำนวนวัคซีนจะมีความสามารถป้องกันการติดเชื้อคนอื่นได้ ก็ต้องนำเอาโควต้านี้ไปเพิ่มให้ทางเพชรบุรี เพื่อควบคุมโรค อัตราการติดเชื้อซึ่งเปลี่ยนแปลงรายวัน ต้องนำมาคิดด้วย
2. เหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว เพื่อให้ต้องมีการขับเคลื่อน
3. กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น แรงงานในแคมป์
สำหรับ การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนนั้น ล่าสุด เพจ หมอพร้อม ได้ให้รายละเอียดอัพเดท ณ เวลา 08.00 น. วันที่ 26 พ.ค.64 พบว่า จำนวนการจองคิวฉีดวัคซีน โควิด19 ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง สะสมรวม 7,931,765 ราย
แบ่งเป็น กทม. 910,320 ราย และต่างจังหวัด 7,021,445 ราย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดเวลา 26 วันนับตั้งแต่ หมอพร้อม เวอร์ชั่น 2 เริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน จนมาถึงวันที่ ระบบถูกสั่งเบรก นั้น จะเต็มไปด้วยคำถามเสียงดังๆ จากสังคมว่า
ตกลง ใครกันแน่ที่ไม่พร้อม!?