เปิดตลาดมะม่วงโลก ผลไม้เมืองร้อนยอดฮิต

เปิดตลาดมะม่วงโลก  ผลไม้เมืองร้อนยอดฮิต

ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องผลไม้อุดมสมบูรณ์ มะม่วงทยอยลาโรงไปยังไม่ทันหมดดี ทุเรียน สละ มังคุด เงาะ ก็ทยอยตามมา รวมถึงผลไม้อื่นๆ ที่มีให้รับประทานตลอดทั้งปี จนบางครั้งเราก็ลืมไปว่าผลไม้แบบเดียวกันนี้ประเทศอื่นก็มีขึ้นชื่อของเขาเหมือนกัน

วันก่อนผู้เขียนได้พบปะกับแม่บ้านชาวปากีสถานกลุ่มหนึ่งซึ่งติดตามสามีมาอยู่เมืองไทยได้ราว 1.5-2 ปี เมื่อผู้หญิงจับกลุ่มคุยกันก็หนีไม่พ้นเรื่องความสวยความงามและอาหารการกิน พวกเธอบอกว่า ชอบมะม่วงเมืองไทยแต่ที่ปากีสถานก็มีมะม่วงอร่อยมากหวานขึ้นชื่อเลยทีเดียว นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินเรื่องมะม่วงปากีสถานจนต้องถามตัวเองว่า เราเคยรู้จักมะม่วงประเทศอื่นบ้างหรือเปล่า นอกจากมะม่วงไทยที่กินมาตลอดชีวิต

หาข้อมูลเพิ่มเติมจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2563 ทั่วโลกส่งออกมะม่วงเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2562 ผู้ส่งออกมะม่วงรายใหญ่ 10 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน ไทย อินโดนีเซีย ปากีสถาน เม็กซิโก บราซิล บังกลาเทศ  ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์ คาดการณ์ว่าเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคผลิตมะม่วงรายใหญ่สุดของโลก จะครองตลาดโลก 71% ภายในปี 2572

การบริโภคมะม่วงต่อหัวประชากรจะโตจาก 9.8 กิโลกรัมมาอยู่ที่ 12.1 กิโลกรัม เป็นผลจากรายได้ประชากรและการบริโภคในสองประเทศหลักอย่างอินเดียและจีนเพิ่มขึ้น

ผลผลิตมะม่วงทั่วโลกเฉลี่ย 22% ของพื้นที่เพาะปลูก หลายพื้นที่นิยมปลูกมากขึ้นทั้งในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง

เปรูเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ ผลผลิตมะม่วงเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านตัน อัตราการเติบโตปีละ 4.4% เป็นอีกประเทศที่ผลิตมะม่วงได้มาก คาดว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ที่โดดเด่นในอนาคตโดยเฉพาะในยุโรป ตอนนี้ตลาดฝรั่งเศสและอิตาลีกำลังสนใจมะม่วงเปรู แถมยังทดลองปลูกในซิซิลีทางตอนใต้ของอิตาลีด้วย

ขยับมาใกล้บ้านเวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตมะม่วงรายใหญ่อันดับ 13 ของโลกในปี 2563 ด้วยผลผลิต 893,200 ตัน มะม่วงเป็นผลไม้ที่เวียดนามปลูกมากเป็นอันดับสองรองจากกล้วย ส่วนใหญ่ปลูกแถบปากแม่น้ำโขง

ปีที่ผ่านมาเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกมะม่วง 180.8 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9% จากปี 2562 เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ประเทศผู้นำเข้ามะม่วงเวียดนามรายใหญ่สุดคือจีน มูลค่า 151.8 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยรัสเซีย 8.4 ล้านดอลลาร์ และปาปัวนิวกินี 5.5 ล้านดอลลาร์ เห็นได้ว่ารายได้จากจีนนำโด่งจริงๆ ประเทศอื่นๆ ที่นำเข้ามะม่วงเวียดนาม เช่น สหรัฐ เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และฮ่องกง (จีน)

เขียนถึงตรงนี้นึกขึ้นได้ว่า สมัยลูกสาวผู้เขียนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ยุโรปเธอเล่าว่า โฮสต์มัมซื้อมะม่วงจากกานามารับประทาน  ลักษณะผลค่อนข้างกลม เปลือกสีแดง หนา รสชาติแม้ไม่หวานเท่ามะม่วงไทยแต่ก็สดชื่นดี เว็บไซต์ selinawamucii.com ระบุว่า อิสราเอล สหรัฐ นิวซีแลนด์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดสำคัญของมะม่วงกานา 

ส่วนมะม่วงปากีสถานที่กล่าวถึงไว้ตอนแรก พันธุ์ยอดนิยมชื่อพันธุ์ “ชวนซา” (Chaunsa) มีต้นกำเนิดในเมืองราฮิมยาร์ข่านและมูลตาน แคว้นปัญจาบ สุกเต็มที่ในเดือน มิ.ย.-ส.ค. กว่าจะหมดก็ปลายเดือน ก.ย. ช่วงที่ตลาดต้องการมากสุดๆ คือ มิ.ย.และ ก.ค.

เหล่าแม่บ้านเล่าว่า มะม่วงชวนซาจากปากีสถานนั้นเป็นที่ต้องการของทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก เพราะรสชาติหวานฉ่ำ หอม เนื้อนุ่มละมุนน่าลิ้มลอง ไฟเบอร์ต่ำแต่อุดมไปด้วยวิตามิน ตอนนี้มีขายในเมืองไทยแล้วด้วย 

ต้องยอมรับว่านอกจากตลาดเมืองไทยอุดมสมบูรณ์แล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยก็มีสินค้าหลากหลายเดินเข้าไปหาซื้อผลไม้จากต่างประเทศได้ไม่ยาก แต่การได้เดินทางไปชิมผลไม้ถึงถิ่นกำเนิดน่าจะได้รสชาติกว่า ตอนนี้ก็ได้แต่รอให้โควิดหมดฤทธิ์ การไปมาหาสู่กันเข้มงวดน้อยลง แล้วหาโอกาสไปชิมมะม่วงตามที่ต่างๆ ตามแต่กำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวย เพราะนอกจากจะได้รู้จักมะม่วงประเทศอื่นแล้ว การเดินทางยังทำให้ได้รู้จักคนเจ้าของพื้นที่ผู้เติมเสน่ห์ให้มะม่วงแต่ละสายพันธุ์ด้วย