ลดดอกเบี้ย0.25%ไร้ผลกำลังซื้อหดตัวคาดปี67เปิดตัวใหม่ติดลบ10-40%
“แอล ดับเบิลยู เอส” คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี67ติดลบ10%-40% เป็นผลจากกำลังซื้อหดตัว ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงมา 0.25% คาดยอดโอนติดลบ3-5%
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท วิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เครือแอล.พี.เอ็น.กล่าวถึง แนวโน้มการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2567 ว่า จะปรับตัว"ลดลง"ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการเปิดตัว โดยคาดว่าจะมีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงประมาณ 20% - 40% ในขณะที่มูลค่าจะลดลงประมาณ 10% - 30% เมื่อเทียบกับปี 2566
โดยคาดว่าจะมีจำนวนหน่วยเปิดตัวในปี 2567 ที่ 59,000 - 79,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 380,000 - 489,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อชะลอตัว ถึงแม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม
“ปัญหาใหญ่ของภาคอสังหาฯ อยู่ที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Loan) ทำให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 70% โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ผนวกกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อโครงการ (Project Finance) โดยมีข้อกำหนดว่าจะอนุมัติสินเชื่อโครงการเมื่อมียอดขายตั้งแต่ 30 - 50% ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ หลายโครงการเปิดตัวแล้วก็ชะลอหรือยกเลิกการเปิดตัวโครงการไป ในขณะที่สินค้าคงเหลือที่มีอยู่ในระบบยังมีเพียงพอต่อการขาย ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายแห่งชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลสะสม 9 เดือนแรก (มกราคม - กันยายน) ปี 2567 ลดลง โดยมีจำนวนโครงการเปิดตัวทั้งหมด 251 โครงการ คิดเป็นจำนวน 41,453 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 274,767 ล้านบาท ลดลง 19%, 39% และ 19% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีการเปิดตัวโครงการทั้งสิ้น 310 โครงการ จำนวน 67,772 หน่วย คิดเป็นมูลค่ารวม 338,655 ล้านบาท โดยมีอัตราขาย ณ วันเปิดตัวที่ 15% จากหน่วยเปิดตัวทั้งหมด ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีอัตราขายได้อยู่ที่ 17%
นอกจากการเปิดตัวโครงการมีแนวโน้มลดลงแล้ว คาดว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะใกล้เคียงกับปี 2566 คือประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท หรือ อาจจะลดลงประมาณ 3-5% จากปี 2566 เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และไม่มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หลังจากที่ยอดโอนกรรมสิทธิที่อยู่อาศัยในครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 452,136 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากระยะเดียวกันของปี 2566