ผับ บาร์ สถานบันเทิง ปิดตายลากยาวข้ามปี ตลาดน้ำเมา เซ่นพิษโควิด สูญ 1.7 แสนล้าน
ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”เมื่อช่องทางจำหน่ายสำคัญอย่าง ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิงหรือ On-Premise ถูกปิดตายร่วมปี ไม่สามารถให้บริการได้ เปิดได้ระยะสั้นแต่เจอการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ลากยาวจนถึงปัจจุบัน
ช่องทาง On-Premise มีสัดส่วนราว 55-60% ของการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนห้างค้าปลีก ร้านค้าทั่วไปหรือ Off-Premise มีสัดส่วนน้อยกว่า ขณะที่พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดก็ต่อเมื่ออยู่นอกบ้าน สังสรรค์ มีกิจกรรมอีเวนท์ แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ เม็ดเงินในตลาดจึงสูญหายไปเรื่อยๆ
ธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ฉายภาพปี 2563 ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสุรา เบียร์ ไวน์ สุรานำเข้าฯ มีมูลค่าตลาดหายไปร่วม 70,000 ล้านบาท จากปี 2561-2562 ที่มีมูลค่าระดับ 3.7 แสนล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวสาหัสแล้ว เมื่อเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 3 ตลาดถูกทุบซ้ำยิ่งกว่าเดิม คาดว่าจะหายไปอีก 30% หรือราว 60,000 ล้านบาท เหลือ 2.4 แสนล้านบาท
ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดยังไม่คลี่คลาย ยังทำให้คาดการณ์ผลกระทบมูลค่าตลาดหายไปอีกร่วม “หมื่นล้านบาท” ทั้งปีอาจเห็นตัวเลขตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหลือเพียง 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี รวมตลอด 1 ปีถึงปัจจุบันคิดเป็นเม็ดเงินหายไปมากถึง 1.7 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาตลาดเคยหดตัว แต่เป็นบางพื้นที่ เช่น พื้นที่เกิดน้ำท่วม ฯ
ส่วนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านออนไลน์ให้ผู้บริโภค กฏหมาย “ห้าม” ตั้งแต่ปลยปี เพราะมีข้อจำกัดเวลาในการขาย ซึ่งประเด็นดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดที่ขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนออกจากบ้าน หากรัฐกังวลการขายนอกเวลาที่กฏหมายกำหนด สามารถตรวจสอบเวลาการชำระเงินซื้อสินค้าได้
“หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลากยาว เดือนตุลาคมยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะหดตัวเหลือ 2 แสนล้านบาท เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูกาลขายหรือไฮซีซั่น มีเทศกาล กิจกรรมต่างๆ กระตุ้นการบริโภคผลักดันให้ธุรกิจเครื่องดื่มมแอลกอฮอล์ขยายตัวได้”
ทั้งนี้ ตลาดที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือสุรานำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง เพราะนอกจากโรคระบาด ยังมีปัจจัยเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคหันไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาต่ำแทน และบริโภคที่บ้าน ซึ่งจะน้อยกว่าออกไปบริโภคนอกบ้าน
สำหรับตลาดรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มูลค่าเชิงปริมาณ สุรานำเข้าเคยมีสัดส่วนสูงสุดเพียง 1.7% เชิงมูลค่าราว 10% เนื่องจากราคาขายค่อนข้างสูง
ในปี 2564 จะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิก จัดประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะหนุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่คงไม่มากนัก เพราะไลฟ์สไตล์การดื่มจะเกิดขึ้นนอกบ้าน พื้นที่มีการจัดอีเวนท์
“ถ้าไม่มีกิจกรรมในที่สาธารณะ ไม่มีทางที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะฟื้นตัวเลย โอลิมปิกอาจช่วยกระตุ้นการบริโภคที่บ้านเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยยะ”
อย่างไรก็ตาม เดือนกรกฎาคม รัฐจะมีการเปิดรับท่องเที่ยวต่างจากภายใต้ภูเก็ตโมเดล ถือเป็นความหวังให้ผู้ประกอบการในการฟื้นธุรกิจ หากสามารถบริหารจัดการโรคระบาดได้ จะขยายไปจุดหมายปลายทายท่องเที่ยวอื่นทั้งชลบุรี เชียงใหม่ได้ เพื่อขานรับไฮซีซั่นปลายปีด้วย
“โควิด-19 ระบาดรอบ 3 ผลกระทบหนักมาก หากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของภูเก็ตโมเดลทำได้ เศรษฐกิจจะผ่อนคลาย และค่อยๆกลับมาฟื้นตัวได้ ผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายใช้สอย ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้กระทบแค่จากช่องทาง On-Premise ปิด แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายด้วย”
ส่วนโอกาสกลับไปเห็นตัวเลขธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับ 3.7 แสนล้านบาทอีกครั้ง มองว่าเกิดขึ้นปี 2566 หรือเร็วสุดจะเป็นไตรมาส 3 ของปี 2565 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นนั่นเอง
ภูเก็ตโมเดล เป็นความหวังเล็กๆ ส่วนความหวังใหญ่ ธนากร เห็นพ้องทุกภาคส่วนว่า “การฉีดวัคซีน” ให้ประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง มีความสำคัญมาก ส่วนเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หากอัดฉีดเข้าสู่ระบบมหาศาลแค่ไหน อาจ “จมหาย” ถ้าไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยวัคซีน