'นายกฯ' เตรียมเซ็นเอ็มโอยูร่วมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
รองโฆษกรัฐบาล เผยสัปดาห์หน้า นายกรัฐมนตรีเตรียมลงนามข้อตกลงร่วมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ต่อยอดฐานผู้นำการผลิตยางยนต์ ตั้งเป้าปี 2573 ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด เร่งตั้งฐานกระจายอัดประจุไฟฟ้าชาร์ตไว 12,000 แห่ง ทั่วประเทศ
29 พ.ค.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจของสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการลงนามข้อตกลงร่วมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รักษาและต่อยอดการเป็นผู้นำฐานการผลิตยานยนต์ ในการยกระดับภูมิภาค
โดยตั้งเป้าไว้ในปี 2573 การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด โดยยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็นหมวดรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องผลิตให้ได้ 675,000 คัน ซึ่งต้องควบคู่ไปกับเป้าหมาย การผลิตยานยนต์ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศในลักษณะชาร์ตไวให้ได้ 12,000 หัวจ่าย รวมไปถึงสถานีจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและรถส่งสินค้าเดลิเวอรี่ 1,450 แห่ง ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายในปี 2573 เช่นกัน
ส่วนในวันพุธที่ 2 มิถุนายน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเยือนประเทศไทย ขณะที่วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมศบศ. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด -19