ไทยแถลง PSMA ยืนยันเดินหน้า ต่อต้าน IUU ชี้ทรัพยากรประมงเข้าสู่จุดสมดุล เล็งต่อยอดสู่ระบบอาหารยั่งยืน

ไทยแถลง PSMA ยืนยันเดินหน้า ต่อต้าน IUU ชี้ทรัพยากรประมงเข้าสู่จุดสมดุล เล็งต่อยอดสู่ระบบอาหารยั่งยืน

ไทยเข้าร่วมประชุม PSMA ถกด้านมาตรการรัฐเจ้าของท่าและการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย พร้อมแถลงความร่วมมือปฏิรูปภาคประมงไทย เผยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระบบอาหารโลกต่อยอดภาคประมงสู่ระบบอาหารยั่งยืน

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้เข้าร่วมการประชุมภาคี ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า หรือ PSMA ครั้งที่ 3 จัดโดย FAO และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ด้านสิ่งแวดล้อม มหาสมุทร และประมง (European Commission for Environment, Oceans and Fisheries)

 

 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการดำเนินงานตามมาตรการ PSMA ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 149 ประเทศ โดยเป็นการประชุมในรูปแบบออนไลน์ (Virtual meeting) และเข้าร่วมการเสวนา (Panel Discussion) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง (High-Level Event) เรื่อง ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการ รัฐเจ้าของท่า (PSMA) และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระดับรัฐมนตรี (Testimonial Statement)  ร่วมกับรัฐมนตรีจาก 6 ประเทศ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้การต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้การบริหารจัดการด้านประมงของประเทศไทยสอดคล้องกับมาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างประเทศ

 

 โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยได้นำมาตรการ PSMA มาสู่การปฏิบัติเป็นผลสำเร็จ   โดยการใช้มาตรการป้องกันมิให้เรือประมงที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมายเข้าเทียบท่า ทำให้มีสถิติการจับกุมและปฏิเสธการเทียบท่าของสินค้าสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย และการใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกันของรัฐภาคี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าท่า และรัฐเจ้าของตลาด รวมทั้งองค์กรภายในและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าการประมง

 

 

รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวประมง ด้วยการสนับสนุนของ FAO และภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จึงนำมาสู่ความสำเร็จเชิงประจักษ์ เห็นได้จากการฟื้นตัวเข้าสู่สมดุลของทรัพยากรประมงของประเทศไทย และปริมาณสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียน (AN-IUU) เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายในปี 2562

 

ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทำ   ประมง ผิดกฎหมายและจะดำเนินตามนโยบาย IUU Free Thailand ใช้ประโยชน์จากความตกลงว่าด้วยมาตรการ PSMA ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2564 ประเทศไทยยังได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรว่าด้วยระบบอาหารโลก (Pre-Ministerial UN Food Systems Summit 2021) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้ระบบอาหารและการเกษตรเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยประเทศไทยยืนยันที่จะเป็นครัวของโลก จึงร่วมต่อยอดความสำเร็จของ PSMA เพื่อให้ภาคการประมงเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารที่ยั่งยืน

 

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายด้านการประมงของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่มี    พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์       ร่วมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยกรมประมงได้ดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

 

 โดยได้วางระบบการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4.ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามนโยบาย “ป้อง ปราม ปราบ”  จนประเทศไทยเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างยั่งยืน