สืบสานพระราชปณิธาน มุ่งมั่นเพื่อราษฎร
"สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี" ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตลอดจนการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด งานในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระราชดำรัสในวันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2562 ใจความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี”
ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงประสบกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกรในด้านต่างๆ ทุกภูมิภาค หนึ่งในนั้นคือ พระราชกรณียกิจด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร หน่วยแพทย์พระราชทาน ตลอดจนสมาชิกโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 จังหวัดสกลนคร
ในระหว่างทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ลานหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทรงเน้นเรื่องการสร้างงาน ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ใจความตอนหนึ่งว่า
"ถ้าเราเกิดทำได้แล้วไปพัฒนาในที่บ้านของเราแล้ว เราสามารถทำเศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้ มีอาหารทาน ผลผลิตที่มีถือเป็นตัวอย่างที่ดี เราไม่ต้องลำบาก มีงานทำตลอดไป มีรายได้ตลอดไป อยากให้ช่วยขยายความรู้แก่รุ่นถัดๆไปจะได้ จะได้รู้สึกรักบ้าน อยากจะอยู่ในถิ่นฐาน ที่บ้านของตัวเอง สามารถประกอบอาชีพและมีรายได้ นี่ก็คือส่งกำลังใจให้นะคะ เพราะอยากจะช่วยให้ทุกคน มีรายได้ช่วงที่ต้องตกงานเพราะโควิดให้มากยิ่งขึ้น”
ด้วยพระราชกระแสรับสั่งพระราชทานแก่สมาชิกโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ตกงาน ขาดรายได้จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำมาซึ่งการจ้างงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรแบบผสมผสาน โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 ส่งผลให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถนำความรู้มาพัฒนาเป็นอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน