แกรมมี่ วาดเป้า 5 ปี ฟื้นกำไร 1,000 ล้าน
“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ถือเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่รายเดียวที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจจะโดนกระแสดิจิทัลเข้ามาถาโถม ทำให้ต้องปรับตัวนำเพลงไปอยู่บนโลกออนไลน์ป้อนคนฟัง
ขณะที่การขยายธุรกิจสู่ทีวี โดยเฉพาะประมูลทีวีดิจิทัล กลับสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจ เพราะตัวเลขรายได้ ไม่สวยงามมากนัก ทำให้บริษัทต้อง “ผ่าตัด” ปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2563 ที่มีเหตุการณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทย่อยต่างๆ เพื่อโฟกัสธุรกิจที่มีมากขึ้น
ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า แกรมมี่ฯ ไม่ได้เป็นเพียงค่ายเพลงรายใหญ่อีกต่อไป แต่ได้ทรานส์ฟอร์มสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์หรือ Content Provider เต็มขึ้น โดยมีธุรกิจหลักที่โฟกัส ได้แก่ ธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้อันดับ 1 ของบริษัท ในไตรมาสแรกมีสัดส่วน 46.5% โดยค่ายเพลงทั้งไทยสากล และไทยลูกทุ่งยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกสู่ตลาดปีละไม่ต่ำกว่า 300 เพลง
สำหรับกลยุทธ์การผลักดันเพลงให้ทำเงินต่อเนื่อง คือการนำผลงานทั้งเก่าและใหม่ไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ สตรีมมิ่งต่างๆ ซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้น แกรมมี่สร้างสถิติมากมาย เช่น เพลงเชือกวิเศษ ของลาบานูน เป็นเพลงแรกของไทยที่โกยยอดผู้รับชมทะลุ 500 ล้านวิว มนต์แคน แก่นคูณ เป็นศิลปินที่ติดท็อป 50 เพลงลูกทุ่งนานสุดในไทย 147 สัปดาห์
ทั้งนี้ ธุรกิจเพลงที่เป็นงานโชว์บิส การบริหารจัดการศิลปิน ปีนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่สามารถจัดอีเวนท์ คอนเสิร์ตได้ เดิมบริษัทมีแผนจะจัดคอนเสิร์ต 16 งาน จะทำรายได้ 665 ล้านบาท หากโควิดไม่คลี่คลาย แผน 2 จะเห็นการจัดงานเหลือ 13 งาน มูลค่า 445 ล้านบาท หรืออาจเหลือเพียง 8 งาน เท่านั้น และทำเงิน 268 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจโฮมชอปปิง ซึ่งร่วมทุนกับโอช้อปปิ้ง ทำรายได้ 35.1% แต่ที่ผ่านมาเผชิญอุปสรรคจากการที่บริษัทไม่ใช่เจ้าของสินค้าเอง ทำให้ความสามารถในการทำ “กำไร” อยู่ระดับต่ำ จึงปรับแผนด้วยการร่วมทุนกับพันธมิตร เช่น โรจูคิส เพื่อนำสินค้ามาจำหน่าย และปีนี้จะเห็นการเจรจากับพันธมิตร 1-2 ราย คาดได้ข้อสรุปในไตรมาส 4
“โอช้อปปิ้งสร้างรายได้ 1,500-1,600 ล้านบาท แต่กำไรเราบางหลักสิบล้านบาทเท่านั้น เพราะบริษัทไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง เราเป็นแค่แพลตฟอร์ม จึงหาพันธมิตรสินค้ามาเสริมทัพ”
ด้านธุรกิจทีวีดาวเทียม จีเอ็มเอ็มแซด สร้างรายได้ 6.1% และธุรกิจภาพยนตร์ภายใต้การดำเนินงานของค่ายจีดีเอช ปี 2564 ได้รับผลกระทบยังไม่สามารถนำหนังเข้าฉาย ทำให้รายได้หายไป 60% จึงปรับแผนไปออกอากาศบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโอทีทีแทน อย่างเรื่อง โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี และตามแผนจะมีหนัง 3 เรื่องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
ขณะที่กิจการร่วมทุน ทั้งช่องวัน 31, จีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ, เชนจ์2561 และคลื่นวิทยุต่างๆ ยังสร้างการเติบโต โดยเฉพาะช่องวัน 31 ซึ่งสามารถขับเคลื่อนธุรกิจทีวีดิจิทัลจนมีเรทติ้งที่ดี นำส่งกำไรให้บริษัทได้ ส่วนจีเอ็มเอ็มสตูดิโอ ซึ่งสร้างคอนเทนท์ป้อนให้กับแพลตฟอร์มโอทีที มีผลงานซีรีส์อย่าง “เด็กใหม่” ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ สร้างผลตอบรับจากคนดูอย่างดี โดยธุรกิจที่ไม่ใช่เพลงหรือนอน-มิวสิคเหล่านี้ มีการเติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมทุนกับ วายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพื่อรุกธุรกิจไอดอลอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาพยายามปลุกปั้นแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หากความร่วมมือกับวายจีฯเดบิวต์ไอดอลให้แจ้งเกิดใน 5 ปี จะทำให้บริษัทขยายตลาดไปต่างประเทศ และจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ทำเงินได้มหาศาล อย่างไอดอลบีทีเอส ของเกาหลีทำรายได้ทั่วโลก 10,000 ล้านบาท ใน 1 ปี
ในปีนี้ บริษัทยังเตรียมงบลงทุน 300-400 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจรวมถึงการซื้อกิจการ 2 รายการ อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวคาดว่าจะผลักกันให้แกรมมี่กลับไปทำกำไรได้ 1,000 ล้านบาท ใน 5 ปี จากที่ผ่านมากำไรสูงสุดทำได้ปี 2551 มูลค่า 705 ล้านบาท
“การปรับโครงสร้างธุรกิจ เราพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และอาจเห็นการกลับไปทำกำไรพันล้านได้”