จี7 บรรลุข้อตกลง'ปฏิรูปภาษี'ทั่วโลก
รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศจี 7 สนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐ ที่เรียกร้องให้บริษัททั่วโลกต้องเสียภาษีอย่างน้อย 15%ของรายได้
นายริชี สุนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า(จี7) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรเจ้าภาพปีนี้ แถลงเมื่อวันเสาร์ (5 มิ.ย.) ว่า หลังจากหารือกันมาหลายปี วันนี้รัฐมนตรีคลังจี7 บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ เรื่องการปฏิรูประบบภาษีโลกเพื่อให้เหมาะกับยุคดิจิทัล และเพื่อสร้างหลักประกันว่า บริษัทเสียภาษีได้อย่างถูกที่ ถูกต้องและเป็นธรรม
ทั้งนี้ เดิมทีประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเสนอให้ทั่วโลกเก็บภาษีขั้นต่ำ 21% เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศต่างๆ ใช้ภาษีต่ำหรือภาษีเป็นศูนย์ดึงดูดธุรกิจต่างชาติ แต่หลังจากเจรจากันมาอย่างหนักหน่วงฐานภาษีกำหนดไว้ที่ 15% ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศที่ขาดแคลนเงินสด และพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
แม้แต่ในสหภาพยุโรป (อียู) ก็มีปัญหาเช่นกันเนื่องจากรัฐสมาชิกใช้อัตราภาษีนิติบุคคลต่างกัน เพื่อดึงดูดบริษัทใหญ่ เช่น ไอร์แลนด์เก็บภาษี 12.5% ส่วนฝรั่งเศสเก็บสูงถึง 31%
ด้านบริษัทใหญ่บางรายตอบรับกับข้อตกลงของขุนคลังจี7 นายนิค เคลกก์ รองประธานกิจการโลกของเฟซบุ๊ค ทวีตข้อความว่าเฟซบุ๊คยินดีกับระเบียบภาษีของจี7
“เราต้องการให้กระบวนการปฏิรูปภาษีนานาชาติประสบความสำเร็จ และการนำไปใช้จะเป็นหนทางให้เฟซบุ๊คเสียภาษีมากขึ้นในที่ต่างๆ”
นายโฮเซ แคสตาเนดา โฆษกกูเกิล เผยกับซีเอ็นบีซีว่า บริษัทสนับสนุนความพยายามปรับปรุงกฎหมายภาษีระหว่างประเทศ
“เราหวังว่านานาประเทศจะเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะได้ข้อตกลงที่สมดุลและยืดหยุ่น”