ส.ภัตตาคารไทยวอน ‘คลัง’ ต่อลมหายใจ ชงเพิ่มมาตรการอุ้มธุรกิจร้านอาหาร!

ส.ภัตตาคารไทยวอน ‘คลัง’ ต่อลมหายใจ  ชงเพิ่มมาตรการอุ้มธุรกิจร้านอาหาร!

“สมาคมภัตตาคารไทย” วอน “คลัง” เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารหวังต่อลมหายใจ หลังวิกฤติโควิด-19 ทุบธุรกิจร้านอาหารซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ได้เข้าพบและหารือกับนายอาคม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบันซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียด้านรายได้อย่างมาก หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อป้องกันสวัสดิภาพของประชาชนในประเทศ เช่น มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้สถานประกอบการต่างๆ ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ร้านอาหารก็เป็นหนึ่งในประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่นกัน 

โดยจากตัวเลขผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่ (200 ตารางเมตรขึ้นไป) มีจำนวน 150,000 ราย และไมโครเอสเอ็มอีหรือสตรีทฟู้ดอีก 400,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 15,000 ราย ที่เหลือเป็นประเภทบุคคลธรรมดา ธุรกิจร้านอาหารทำรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาทมาตลอด และเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ทั้งเป็นแหล่งจ้างงาน เป็นซัพพลายเชนเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิต ผู้ให้บริการประเภทต่างๆ

“แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจนหลายรายต้องปิดกิจการถาวรจากวิกฤติโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่มีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด และมีเงินทุนสำรองไม่เพียงพอในการประคับประคองธุรกิจในสภาวะวิกฤติที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนว่าจะกินเวลามายาวนานกว่า 1 ปีแล้ว”

อีกทั้งยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ด้วยติดเงื่อนไขข้อจำกัดของธนาคาร ประกอบด้วย

1.ติดเครดิตบูโร หรือติดเงื่อนไขประวัติหนี้เสีย เช่น เข้าโครงการพักชำระหนี้สถาบันการเงินถือว่าประวัติเสีย

2.สเตทเมนท์ (Statement) ไม่เข้าเงื่อนไขขอสินเชื่อ เนื่องจากบ้างร้านต้องหยุดกิจการทำให้การเดินบัญชีไม่มี

3.หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มีทำให้เข้าถึงเงินหลักล้านยาก

และ 4.สถาบันการเงินมักจะพิจารณาลูกค้าตัวเองเป็นหลัก และเป็นลูกค้าชั้นดี ซึ่งมีศักยภาพในการประคับประคองกิจการอยู่แล้ว ส่วนที่รัฐบาลมีมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ ซอฟท์โลน จากธนาคารออมสินและธนาคารเอสเอ็มอี ที่เหลือวงเงินอยู่ 3,000 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่สามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อทั้ง 2 ส่วนนี้ได้เช่นกัน 

ดังนั้น สมาคมฯจึงมีข้อเสนอให้พิจารณาช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นการเฉพาะ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐได้อย่างทั่วถึงเพื่อให้ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ ดังนี้

1.ออกมาตรการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย ธนาคารและไฟแนนซ์ ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแก่ธนาคารแทนผู้ประกอบการ 

2.วงเงินเดิมที่ธนาคารของรัฐยังคงมีเหลือ ขอให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริงภายใต้วิกฤติโควิด-19 โดยขอวงเงินกู้ให้เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำของกิจการช่วง 6-12 เดือนถัดจากนี้ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อน 3-5 ปี ใช้ บสย.ค้ำประกันโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์จำนอง ซึ่งบางร้านอาหารต้องการ 3-5 แสนบาทเท่านั้น และขอให้ใช้ฐานการเสียภาษีตามแบบแสดงรายได้ ภงด.90 สำหรับผู้ประกอบการแบบบุคคล และ ภงด.50 สำหรับนิติบุคคลในการพิจารณาปล่อยกู้สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ 30% ของรายได้ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่มีปัญหา

3.ขอแบ่งวงเงินตามมาตรการพักทรัพย์พักหนี้จำนวน 2 หมื่นล้านบาทให้สิทธิกับผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสถานประกอบการเป็นของตัวเองซึ่งติดจำนองกับธนาคารได้แก้ปัญหาหนี้สินและเช่าทำธุรกิจต่อ  5 ปี ซึ่งร้านอาหารจะมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าธุรกิจประเภทอื่น 

และ 4.จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสนับสนุนกิจการร้านอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติเช่นนี้ในอนาคตอีก โดยกองทุนนี้มีภาระกิจหลักคือการฟื้นฟู และสนับสนุนกิจการร้านอาหารให้ดำเนินกิจการต่อไปในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เช่น เป็นแหล่งเงินทุนสำรองค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ เพื่อให้ร้านอาหารยังคงเปิดต่อไปได้ มีการจ้างงาน มีการใช้จ่ายเชื่อมโยงไปยังซัพพลายเชนต่างๆ ลดภาระของภาครัฐลงได้

“หากกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ตามนี้ จะเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจร้านอาหาร ต่อลมหายใจการจ้างงาน ส่งต่อกระแสเงินหมุนเวียนไปยังภาคการเกษตร ภาคบริการ และชุมชนตามมา” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว