'KTB' ยกเลิกระบบ ยินยอม 'เปิดเผยข้อมูล' บนแอพฯ 'เป๋าตัง' ทุกคนโดยอัตโนมัติ
กรุงไทยแจ้งยกเลิกระบบให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนแอพฯเป๋าตัง ลดสับสน-ความกังวลของผู้ใช้งาน ส่วนผู้ใช้งานที่ให้ความยินยอมไปแล้ว ระบบจะยกเลิกให้ “อัตโนมัติ” ตั้งแต่คืนวันที่ 7 มิ.ย.
ธนาคารกรุงไทย แจ้งว่า จากกรณีที่ธนาคารได้อัพเดตแอพพลิเคชันเป๋าตัง เวอร์ชั่นล่าสุด โดยกำหนดให้ผู้ใช้งาน “เลือก”ให้ความยินยอมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร กลุ่มธุรกิจการเงินและพันธมิตร นำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ พัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานแอพฯ เป๋าตัง
และเพื่อใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตนในการเข้าร่วมโครงการภาครัฐนั้น พบว่า ผู้ใช้งานแอพฯเป๋าตังมีความกังวลเกี่ยวกับระบบและรูปแบบการให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูล
เพื่อความสบายใจของผู้ใช้งาน และความโปร่งใส ดังนั้น ธนาคารจึงได้ยกเลิกระบบการให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลทั้ง 3 ส่วนออกจากแอพฯเป๋าตัง
สำหรับผู้ใช้งานที่ได้กดให้ความยินยอมไปแล้ว ระบบจะทำการยกเลิกให้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่คืนวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธนาคารจะเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบและรูปแบบการให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการเข้าร่วมโครงการภาครัฐเพื่อตรวจสอบยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้มีสิทธิตามเกณฑ์ของโครงการภาครัฐจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ และทุจริตในโครงการภาครัฐ ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ และการเชื่อมโยงที่จำเป็นของแต่ละโครงการ
โดยธนาคารยึดหลักความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง พร้อมปฏิบัติตามกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แม้ว่าจะมีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปก็ตาม และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ การออกมาแก้ระบบครั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ แอพฯเป๋าตัง ถูกกระแสวิจารณ์อย่างหนัก และมีการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าแอพฯ เป๋าตังบังคับให้ผู้ใช้งานยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ถึง3 ข้อ
ซึ่งข้อแรกและข้อสอง คือการยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร กลุ่มธุรกิจการเงินและพันธมิตร และนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ได้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) โดยข้อมูลส่วนนี้ธนาคารใช้เพื่อวิเคราะห์ พัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานแอพฯ เป๋าตัง
ซึ่งกรณีที่เป็นดร่ามาคือ หากกดยินยอมในข้อที่1และสองแล้ว จะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไข หรือเปลี่ยนเป็น ‘ไม่ยินยอม’ ไม่ได้
ดังนั้นจึงมีการแสดงความเห็นมากมายว่า กรณีเช่นนี้ เป็นการบังคับผู้บริโภคให้ยินยอมทางอ้อมหรือไม่?
ขณะที่ข้อที่สาม เกี่ยวกับการยินยอมให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตนในการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ
ซึ่งข้อที่สาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้แอพฯ จะต้องกดยินยอม ไม่เช่นนั้น รัฐก็ไม่สามารถรับทราบข้อมูลและเยียวยาช่วยเหลือได้ถูกคน ส่งผลให้ ‘กรุงไทย’ ออกมาปรับปรุงระบบ การยินยอมข้อมูล และชี้แจ้งใหม่ถึง2ครั้ง เพื่อลดความกังวล ลดความสับสนของประชาชน