ศาลอุทธรณ์สั่ง 'เซปิง' จ่าย 2 แสน โฆษณาศัลยกรรมเกินจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้สั่ง “เซปิง” คนเดียวชดใช้ 2 เเสน ฐานโฆษณาศัลยกรรมเฟซออฟเกินจริง หลังเหยื่อผ่าตัดยื่นฟ้องศัลยกรรมทำเป็นแผลที่คาง ยกฟ้อง ร.พ.-หมอผ่าตัด ไม่ต้องชดใช้ค่ารักษาเหยื่อ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน64 ที่ศาลเเพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ นางคำปัน บราวน์ อายุ 57 ปี เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.เซปิง ไชยศาส์น (เจ้าของโครงการเฟซออฟ) นายบทมากร วัฒนะนนท์ (เจ้าของบัญชีโอนเงิน), บริษัท เอ็ม เอส เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ (ร.พ.) และน.ส.จันทร์จิรา แบ่งหน่อย (เเพทย์ที่ทำการผ่าตัด)ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 9,978,000 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2559 กรณีที่ลงโฆษณาเกินจริง เรื่องการผ่าตัดศัลยกรรมไร้รอยแผลทำให้โจทก์เกิดมีบาดแผลที่ใต้คาง
โดยคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ น.ส.เซปิง จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 50,000 บาทแก่โจทก์ กรณีที่ลงโฆษณาเกินจริง เรื่องการผ่าตัดศัลยกรรมไร้รอยแผล และให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ที่กระทำการประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เกิดมีบาดแผลที่ใต้คาง ร่วมกันชดใช้เงินคนละจำนวน 50,000 บาท และให้ชดใช้อีกจำนวน 20,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล รวม 120,000 บาทและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์
โดยศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่า แก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า ตอนนี้มีเหยื่อจากการศัลยกรรมโครงการดังกล่าวนี้ โดนฟ้องเรียกค่าผ่าตัดศัลยกรรมอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย เป็นหนี้นอกระบบ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 และส่วนใหญ่โดนเรียกค่าผ่าตัดที่แพงกว่าเข้าไปรับการผ่าตัดกับโรงพยาบาลจำเลยที่ 3 อยากจะแนะนำว่าให้เลือกเข้าไปสถานพยาบาลด้วยตนเอง และปรึกษากับแพทย์โดยตรง เพราะถ้าผ่านคนกลางที่ไม่ใช่แพทย์จะเหมือนเคสนี้ จ่ายโครงการ 478,500 บาท แต่โรงพยาบาลจำเลยที่ 3 คิดแค่ 173,300 บาท ตามคำพิพากษาอุทธรณ์ ฉะนั้นโครงการดังกล่าวมีรายได้ส่วนต่างมากกว่าโรงพยาบาลเสียอีก และเป็นการได้รับประโยชน์จากการรับส่งคนไข้ซึ่งผิดกฎหมายสถานพยาบาล คงต้องร้องให้ตรวจสอบไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และต้องสอบถามกรมสรรพากรแล้วว่าได้มีการตรวจสอบโครงการเรื่องนี้หรือไม่ เพราะคำฟ้องทั่วประเทศเป็นหลักฐานว่าโครงการมีรายได้ที่แน่นอน