กระทรวงพลังงาน หวังฉีดวัคซีนตามแผนหนุนการใช้ไฟฟ้าครึ่งปีหลังฟื้น
“พลังงาน” เตรียมพิจารณาต่อายุมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม หลังสิ้นสุดมาตรการมิ.ย.นี้ เล็งประสานข้อมูล สศช.ใกล้ชิด หวังรัฐฉีดวัคซีนได้ตามแผนหนุนการใช้ไฟฟ้าครึ่งปีหลังโต 0.8%
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาว่า จะต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม(LPG) ต่อหรือไม่ หลังจากมาตรการช่วยเหลือจะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ โดยหากภาครัฐมีนโยบายให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม
โดยในส่วนของมาตรการดูแลค่าไฟฟ้านั้น ก็คงจะต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล เช่น วงเงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เพื่อประสานข้อมูลด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป
“ตอนนี้ต้องขอดูสถานการณ์เศรษฐกิจก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น ก็คงต้องต่ออายุมาตรการ แต่ก็คงต้องใช้เงินในส่วนของเงินกู้ เพราะตอนนี้ ในส่วนของเงินที่ส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน (Claw Back)ก็หมดแล้ว ก็ต้องหารือ สศช.ด้วย”
รวมถึง ในส่วนของมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที 318 บาท จะสิ้นสุด 30 มิ.ย.นี้ จะพิจารณาต่ออายุหรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันด้วย แม้จะมีกรอบวงเงินดูแลราคาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องไปดูวงเงินด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2564
นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2564 เดิมคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ 187,421 กิกะวัตต์(GWh) เพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 2563 โดยการใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่า จะลดลง 0.4% จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 0.8% หากภาครัฐสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนได้ครอบคลุมตามแผนที่วางไว้ และสามารถกลับมาเปิดประเทศได้ รวมถึงภาคการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการใช้พลังงาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำมันกลับมาเพิ่มขึ้น
“การใช้ไฟฟ้าทั้งปีนี้ ยังต้องรอประเมินสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งซึ่งหากดีขึ้นการใช้ไฟฟ้าก็จะเป็นบวก แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็มีโอกาสที่การใช้ไฟลดลง”
ส่วนสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) พบว่า ในปี 2562 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) เกิดขึ้นในเดือน พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค. อยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ และปี2564 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค. อยู่ที่ประมาณ 31,000 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากปี 2562 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายกุลิศ ยังกล่าวถึงกรณีการส่งมอบพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิมให้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้ชนะประมูลรายใหม่นั้น กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างประสานงานกับทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการผลิตก๊าซฯให้ได้อย่างต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดสัญญาเดิมใน 23 เม.ย. 2565 เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)
“กระทรวงพลังงาน ยืนยันจะสามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซฯ และไม่กระทบต่อต้นทุนราคาค่าไฟฟ้า อย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนสบายใจได้”
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนสำรองไว้รับมือกรณีดังกล่าวแล้ว เช่น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาใช้ทดแทนชั่วคราว ขณะที่ปัจจุบันราคาก๊าซ LNG มีแนวโน้มถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทย ดังนั้น ก็อาจจะเป็นผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยรวม