เปิดคุณสมบัติ 4 กลุ่ม ‘ต่างชาติ’ รัฐตั้งเป้าดึง 1 ล้านคน ลงทุน - อาศัยในไทย
แผนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายคือการเร่งรัดดึงดูดการลงทุน รวมถึงดึงคนต่างชาติที่ความสามารถและรายได้สูงเข้ามาลงทุนและอาศัยระยะยาวในประเทศไทยโดยมีเป้าหมาย 1 ล้านคนเพื่อเพิ่มให้คนกลุ่มนี้เข้ามาใช้ชีวิตทำงานเพิ่มการใช้จ่าย
รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน และดึงดูดชาวต่าชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย คณะทำงานชุดนี้มี มล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
หลังจากซุ่มทำแผนอยู่กว่า 6 เดือนคณะทำงานได้รายงานความคืบหน้าเข้าสู่ที่ประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะมีการชักชวนให้เข้ามาลงทุน ทำงาน และอาศัยอยู่ระยะยาว (long stay)ในประทศไทยโดยมีเป้าหมาย 1 ล้านคน
“กรุงเทพธุรกิจ”รวบรวมเงื่อนไขและคุณสมบัติของชาวต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามที่คณะทำงานฯได้เสนอรายละเอียดให้ ศบศ.พิจารณาในการประชุมครั้งล่าสุด ประกอบไปด้วย
1.กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้โปรแกรม Flexible Plus Program โดยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเดินทางบ่อย ใช้ชีวิตในหลายประเทศ และมีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก คุณสมบัติไม่จำกัดอายุ แต่ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขการให้วีซ่าพำนักระยะยาวในไทยโดยจะต้องลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนทางตรง หรือลงทุนในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์
2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) โดยกลุ่มนี้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายได้จากการเกษียณที่อายุเป็นรายได้ที่มั่นคงโดยมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 4 0,000 ดอลลาร์ ต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรืออาจมีการลงทุนทางตรง หรือในอสังหาริมทรัพย์ ที่มูลค่าเทียบเท่ากัน
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) โดยกลุ่มนี้จะมี 2 ประเภทคือ ผู้ประกอบอาชีพดิจิทัล หรือพนักงานองค์กรขนาดใหญ่ และใกล้จะเกษียณอายุ (Crop program) คุณสมบัติคือต้องมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละไม่น้อยกว่า 40,000ดอลลาร์ต่อปีหากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์ทำงานในสาขาที่เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 5 ปี กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีรายได้ปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นต้น
และ4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional) โดยกลุ่มนี้จะมี 2 ประเภทคือ ผู้ประกอบอาชีพดิจิทัล หรือพนักงานองค์กรขนาดใหญ่ และใกล้จะเกษียณอายุ (Crop program) ซึ่งต้องมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละไม่น้อยกว่า 40,000ดอลลาร์ต่อปีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาที่ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์ทำงานในสาขาที่เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 5 ปี กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีรายได้ปีละ 1 พันล้านดอลลาร์
รวมทั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีรายได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปี และมีประสบการณ์ทำงานในองค์กรวิจัยขนาดใหญ่หรือการสอนในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นต้น
โดยทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมายจะต้องมีการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า1 แสนดอลลาร์ตลอดระยะเวลาในการถือวีซ่าด้วย
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ได้เสนอให้กับทั้ง 4 กลุ่มคือถือครองวีซ่าอายุ 10 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน) สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดินในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น) ส่วนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้ได้ใบอนุญาตในการทำงาน
รวมถึงมีข้อเสนอให้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ที่เกิดในประเทศไทยในอัตราคงที่ที่ 17% เท่ากันหมดทุกกลุ่มแต่ข้อเสนอเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นต้องกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพราะกระทรวงกรคลังยังไม่เห็นด้วยกับมาตรการในส่วนนี้โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานไปประสานกับหน่วยงานต่างๆและหารือเรื่องข้อกฎหมายอื่นๆด้วย
ต้องจับตาดูว่าถึงที่สุดแล้วมาตรการชักจูงการลงทุนและการดึงดูดชาวต่างชาติให้อาศัยระยะยาวในประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จเพียงใดกับเป้าหมาย 1 ล้านคน ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายหลังโควิด-19 คลี่คลายลง