กรมวิชาหนุนเกษตรกรผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เอง
กรมวิชาการเกษตร เร่งขยายผลเทคโนโลยีชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพสู่ภูมิภาค ส่งเสริมเกษตรกรผลิตได้ ใช้เป็น วางเป้าปีครึ่ง 8 พันรายใน 57 จังหวัดต่อยอดสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริม ชูไร่องุ่นวิชัย มีรายได้ 1,500 บาทต่อวัน
นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนโครงการขยายผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จแล้วไปสู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเป็นนโยบายหลักของนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้มอบนโยบายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ซึ่งในปี 2564 นี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการวิจัยต่อยอดและขยายผลเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินโครงการในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ โดยมีเป้าหมายขยายผลเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเกษตรกรจำนวน 8,425 รายครอบคลุมพื้นที่จำนวน 57 จังหวัด
กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยปุ๋ยชีวภาพหลายชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและเพิ่มธาตุอาหารที่สำคัญให้แก่ดินที่ใช้เพาะปลูกพืช ซึ่งช่วยลดและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ปุ๋ยชีภาพไมคอร์ไรซ่า ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอตเฟต และแหนแดง
รวมทั้งยังมีผลงานวิจัยด้านชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชและการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ทดแทนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ แตนเบียนควบคุมแมลงศัตรูพืช แมลงหางหนีบ แมลงช้างปีกใส มวนพิฆาต ไวรัสเอ็นพีวี แบคทีเรียบีที ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ไตรโคเดอร์มา เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี และแบคทีเรีย Bs-DOA24
แต่ที่ผ่านมาการนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร เนื่องจากสถานที่ผลิตอยู่ในหน่วยงานส่วนกลางห่างไกลจากเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านี้
จากปัญหาดังกล่าวอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงได้มีข้อสั่งการให้มีการขยายผลเทคโนโลยีจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชและกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่บุคลากรของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาคทั้ง 8 แห่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมแล้วนำเทคโนโลยีไปขยายผลต่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์บางชนิดที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากใช้เองได้ โดยภายหลังจากการขยายผลให้แก่กลุ่มเกษตรกรแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจติดตามให้คำแนะนำตลอดขั้นตอนการผลิตจนมั่นใจว่ากลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตได้เองอย่างมีคุณภาพ
ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต ช่วยลดต้นทุนการผลิต และบางรายยังสามารถต่อยอดผลิตเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สอดรับนโยบายลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการวิจัยขยายผลเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อการผลิตพืชปลอดภัยและอินทรีย์จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2564 - ธันวาคม 2565 คาดว่าหลังสิ้นสุดโครงการจะมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักและผลไม้จำนวน 8,425 ราย ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 57 จังหวัดสามารถผลิตชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชและปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เองได้และผลิตขายเป็นอาชีพเสริม รวมทั้งยังมีศูนย์เครือข่ายในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 57 ศูนย์เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้การผลิตและกระจายชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชไปสู่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์
สำหรับเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จใช้ในการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ ที่ทำขึ้นเอง คือ ไร่องุ่นของนายวิชัย ทดเจริญ จังหวัดหนองคายที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตพืชปลอดภัย (GAP) ซึ่งเดิม นายวิชัยได้เริ่มต้นอาชีพทำการเกษตรโดยปลูกผักอินทรีย์ ผักปลอดสารแบบยกแคร่หรือผักขึ้นโต๊ะ มาก่อน โดยในกระบวนการผลิตใช้วัสดุปลูก ปุ๋ยหมักและน้ำหมักที่ทำขึ้นเอง และได้รับคำแนะนำให้ขอรับรองมาตรฐานการผลิตพืชปลอดภัย หรือ GAP กับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมแปลง และให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ วิธีการผลิตและวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันกำจัดโรคจากเชื้อรา จนทำให้แปลงผักของนายวิชัยได้รับการรับรอง GAP
อย่างไรก็ตาม นายวิชัยเห็นว่าการปลูกผักนั้นทำได้ง่ายและปลูกกันมาก ทำให้ในบางช่วงผลผลิตมากจนล้นตลาดราคาผักตกต่ำ จึงศึกษาหาข้อมูลการปลูกพืชอื่นๆ จนพบว่าองุ่นเป็นพืชที่น่าสนใจสร้างรายได้ดีกว่าผักสลัดและยังมีการปลูกน้อยจึงได้เริ่มต้นปลูกองุ่นครั้งแรกจำนวน 26 ต้น
โดยปลูกในวงบ่อใช้วัสดุปลูกที่ทำเอง ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ผสมน้ำหมักไปกับระบบน้ำด้วย จากการหมั่นสังเกตและดูแลเอาใส่ใจอย่างใกล้ชิด ทำให้องุ่นเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น พันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์แบล็คโอปอร์ ไวท์มะละกา ป๊อกดำ บิวตี้ รูทเพอเรท ไชน์มัสแคท และพันธุ์คาร์ดินัล โดยการปลูกมีทั้งระบบโรงเรือนแบบเปิดและโรงเรือนแบบปิด
นายวิชัยบอกวิธีการปลูกองุ่นที่ไร่ของตนเอง ว่า เตรียมวัสดุปลูกโดยโรยปูนขาว 200 กรัม/ต้น รองพื้นด้วยปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัม/ต้น ขุยมะพร้าว 1 กิโลกรัม/ต้น และใช้ฟางข้าวแห้งที่ตากทิ้งไว้นาน 1 เดือน ก่อนนำมาคลุมหน้าดินให้ทั่วบริเวณ หลังปลูก 15-30 วัน เมื่อต้นแข็งแรงตั้งตัวได้เริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักปลา น้ำหมักรกหมู โดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กรัม/ต้น ทุก 15 วัน และน้ำหมักรกหมู อัตรา 350 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใส่ทุก 30 วัน เพื่อใช้ในการบำรุงต้น
หลังปลูก 2 เดือนใช้น้ำหมักรกหมู 350 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใส่ปุ๋ยคอก 1 กิโลกรัม/ต้น หลัง 3 เดือนเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เป็น 60 กรัม/ต้น ใส่ทุก 15 วัน จนครบอายุ 6 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 200 กรัม/ต้น หลัง 7 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 100 กรัม/ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 100 กรัม/ต้น ทุก 15 วัน เมื่อต้นอายุ 8 เดือน หยุดให้น้ำ 7-10 วัน เพื่อเตรียมตัดแต่งกิ่ง
หลังจากองุ่นอายุ 9 เดือนหลังปลูก จะตัดแต่งใบและยอดออกให้เหลือ 6 ข้อ เพื่อบังคับการออกผล ใส่ปุ๋ยมูลไก่ผสมกับปุ๋ยมูลวัว อัตราส่วน 1:1 ที่หมักสมบูรณ์แล้ว ต้นละ 2 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กรัม/ต้น ให้น้ำจนชุ่มวันเว้นวัน หลังตัดแต่ง 20 วันจะเริ่มเห็นช่อดอกและเริ่มติดดอก ประมาณ 60 วันองุ่นจะเริ่มออกผล ถ้าช่อไหนผลแน่นเกินไปจะตัดลูกเล็กหรือที่เรียกว่าลูกแก้วออก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัม/ต้น ครบ 70 วันใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 100 กรัม/ต้น ครบ 100 วันใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 100 กรัม/ต้น
ส่วนการป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคายได้เข้ามาให้คำแนะนำวิธีการผลิตและวิธีการใช้ โดยใช้ฉีดพ่นเพื่อป้องกันเชื้อราในช่วง 2 เดือนหลังปลูก และใช้น้ำส้มควันไม้ 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตรกำจัดแมลงปีกแข็ง
ช่วงที่องุ่นมีอายุครบ 120 วัน จะลดการให้น้ำเพื่อให้องุ่นมีความหวานมากขึ้น และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงอายุ 120 วันขึ้นไป โดยใช้กรรไกรตัดบริเวณขั้วและนำมาใส่ในตะกร้าที่สะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสู่ผลผลิต โดยจะจำหน่ายหน้าสวนในราคากิโลกรัมละ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับพันธุ์และคุณภาพผลผลิต โดยเฉลี่ยแล้วสามารถขายได้วันละ 10 กิโลกรัม รวมรายได้ประมาณวันละ 1,500 บาท โดยนายวิชัยได้วางแผนให้องุ่นให้ผลผลิตทั้งปีด้วยวิธีตัดแต่งกิ่งบังคับการออกดอกติดผล ทำให้มีรายได้ดีกว่าผักสลัดที่มีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 400-600 บาท