จับตาแผน'B3W'จี7 ต่อยอดข้อริเริ่ม'บลูดอท'

จับตาแผน'B3W'จี7 ต่อยอดข้อริเริ่ม'บลูดอท'

จับตาแผน'B3W'จี7 ต่อยอดข้อริเริ่ม'บลูดอท' ขณะที่นักวิเคราะห์มีความเห็นว่านี่เป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมในแง่ของการลงทุนต่างประเทศระหว่างบ.ตะวันตกและบ.จีนที่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าบ.ตะวันตก

ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7ประเทศ(จี7)ที่กำลังประชุมกันอยู่ที่มณฑลคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ เห็นพ้องร่วมกันจัดทำแผนสนับสนุนบริษัทที่มีรายได้ระดับกลางและต่ำกว่าในการทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ด้วยความหวังว่าการสนับสนุนนี้จะช่วยคานอำนาจจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนี้ได้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ และผู้นำจี7 คนอื่นๆเสนอโครงการริเริ่มสร้างโลกที่ดีกว่ากลับคืนมา หรือ B3W ด้วยการเป็นพันธมิตรทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องใช้เงินมากถึง40 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578

“นี่ไม่ใช่แค่การเผชิญหน้าหรือจัดการจีน แต่จนถึงขณะนี้เราไม่เคยเสนอตัวเลือกดีๆ สะท้อนค่านิยม มาตรฐาน และวิธีการทำธุรกิจของเราเลย”เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งในรัฐบาลไบเดน ระบุ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐยังไม่เปิดเผยออกมาชัดเจนว่าชาติมหาอำนาจตะวันตกจะลงทุนเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่กับแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกนี้ และจะทำภายใต้กรอบระยะเวลาใด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือชาติตะวันตกกลับมามุ่งมั่นอีกครั้งว่าต้องลงมือเสียตั้งแต่ตอนนี้เพื่อคานอำนาจของจีนซึ่งแผ่อิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเงินทุนและกรอบระยะเวลา แต่ผู้สังเกตุการณ์จำนวนมากมีความเห็นว่า ข้อริเริ่มนี้เป็นการต่อยอดจากความริเริ่มใหม่ที่เรียกกันว่า "Blue Dot Network"เป็นความร่วมมือที่ตั้งใจจะสร้างเครือข่ายระดับโลกผ่านการให้เงินทุนในรูปแบบการปล่อยกู้เพื่อสร้างถนน สะพาน สนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า และอื่นๆ ภายใต้ชื่อ“บลูดอท” ที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส และไม่สร้างกับดักหนี้

แถลงการณ์ของจี7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ( อียู ) ระบุว่า การร่วมกันจัดทำข้อริเริ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับแผนยุทธศาสตร์“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ“เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” ของจีน (บีอาร์ไอ)เนื่องจากจี 7เป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

จีน เริ่มจัดทำแผนบีอาร์ไอ เมื่อปี 2556 ตามแนวคิดริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มุ่งเน้นขยายโครงข่ายการลงทุนและการพัฒนาออกจากจีน สู่นานาประเทศในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา ซึ่งนับจนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 100 ประเทศลงนามร่วมเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลปักกิ่งในโครงการนี้ แต่โครงการนี้ของจีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นตัวการทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีหนี้สินติดตัว

มาถึงตอนนี้ ที่จี7ออกแถลงการณ์ร่วมจัดทำโครงการ B3W ทำให้เกิดคำถามในกลุ่มนักวิเคราะห์และผู้สังเกตุการณ์ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆว่า โครงการB3W จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าโครงการบีอาร์ไอของจีนได้อย่างแท้จริงหรือ? ในเมื่อเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหมือนๆกันแต่ต่างกันที่ว่าจีนจัดทำโครงการนี้มาก่อน แถมตอนนี้จีนเร่งดำเนินนโยบายการทูตแบบให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่างๆแบบไม่อั้นแก่ประเทศพันธมิตรและประเทศที่เข้าร่วมโครงการ

“โครงการริเริ่มนี้เป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมในแง่ของการลงทุนต่างประเทศระหว่างบริษัทตะวันตกและบริษัทจีน โดยบริษัทจีน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอาจจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าบริษัทตะวันตก”ลอเรน จอห์นสตัน นักวิเคราะห์จากเอสโอเอเอส ไชนา อินสติติว ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ข่าวอัลจาซีราห์

นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าขณะนี้จีนเร่งอำนวยความสะดวกแก่รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกโดยไม่คำนึงว่าความช่วยเหลือในโครงการต่างๆนั้นๆจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาและเป้าหมายบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาวหรือไม่

“โครงการบีอาร์ไอหลายโครงการไม่ผ่านมาตรฐานด้านความคุ้มครองทางสังคมและมาตรฐานด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นข้อเรียกร้องของบรรดาสถาบันเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของชาติตะวันตก”รีเบ็กกา เรย์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากศูนย์นโยบายเพื่อการพัฒนาโลกของมหาวิทยาลัยบอสตัน ให้ความเห็น

รัฐบาลจีนดำเนินการรูปแบบต่างๆเพื่อสนับสนุนโครงการบีอาร์ไอ ทั้งใช้“อำนาจอ่อน”กับบรรดาประเทศที่เข้าร่วมโครงการและสนับสนุนบริษัทจีนให้เข้าร่วมกับโครงการนี้ โดยนับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดตัวโครงการนี้เมื่อปี 2556 ก็ทุ่มเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในโครงการต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเป็นโครงการในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา

นักวิจารณ์รวมทั้งบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ มองว่า จีนเป็นต้นเหตุความเสียหายด้านต่างๆ ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุน และสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศวิทยาไปทั่วโลก สกัดกั้นความพยายามของประเทศต่างๆในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน สกัดกั้นประเทศต่างๆไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งทรัพยากรในช่วงเวลาที่ทุกประเทศควรดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการใช้แหล่งพลังงานและทรัพยากรประเภทต่างๆในลักษณะที่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด