ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต JWD เป็น BBB- เหตุกระแสเงินสดติดลบ
"ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)" ลดอันดับเครดิต JWD เหลือ BBB- แนวโน้มธุรกิจมีเสถียรภาพ จากปัจจัยกดดันกระแสเงินสดที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง-อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เป็น BBB-(tha) จาก BBB(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีสเถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของโครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาท ที่ได้รับการค้ำประกันโดย Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ที่ AAA(tha) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของบริษัทฯ ที่ F3(tha)
โดยการปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าแผนการลงทุนที่สูงขึ้นและกระแสเงินสดสุทธิ ซึ่งหมายถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินปันผล (Free cash flow, FCF) ที่ติดลบอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ น่าจะทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ให้ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5.0 เท่ายังคงมีความท้าทายในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า
ในปัจจุบัน ฟิทช์พิจารณาอัตราส่วนหนี้สินของ JWD โดยใช้อัตราส่วนหนี้สินที่คำนวณจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) และหนี้สินที่มีการปรับปรุงด้วยหนี้สินจากสัญญาเช่า โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์ ซึ่งจะสามารถสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินได้ดีกว่า เนื่องจากบริษัทฯ มีการเช่าทรัพย์สินที่ค่อนข้างสูงในธุรกิจคลังสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับเต็ม ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของ JWD น่าจะยังคงติดลบต่อไปอีกอย่างน้อยในช่วง 2 ปีข้างหน้า หลังจากที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนและแผนการลงทุนที่สูง ในขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ อยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา JWD มีแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 800-900 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 รวมถึงการลงทุนอื่นอีก 800-900 ล้านบาทในปี 2564
ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง บริษัทคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ JWD ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.5 เท่า – 6.0 เท่าในปี 2564 (ปี2563 อยู่ที่ 5.6 เท่า) ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 5.0 เท่า ในปี 2565 อัตราส่วนหนี้สินที่สูงของ JWD เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อขยายพื้นที่คลังสินค้าและเงินลงทุนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เงินทุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและการกู้ยืมเป็นหลัก ทั้งนี้ การลงทุนในสัดส่วนผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในบางธุรกิจก็ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนเหล่านี้อยู่ในระดับที่จำกัดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า