KKP ชี้ เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นยาว ท่องเที่ยวยังไม่กลับเป็นปกติ แม้เปิดประเทศ

KKP ชี้ เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นยาว ท่องเที่ยวยังไม่กลับเป็นปกติ แม้เปิดประเทศ

เกียรตินาคินภัทร ปรับลด GDP จาก 2.2% เหลือ 1.5% สำหรับปี 2021 ตามการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด อีกทั้งวัคซีนที่ล่าช้าจะส่งผลให้ปีนี้นักท่องเที่ยวกลับมาได้เพียงประมาณ 160,000 คนเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะฟื้นได้อย่างเต็มที่

เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาจนปี 2023

      KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าสถานการณ์การจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ น่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และการเปิดประเทศอาจทำได้ล่าช้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาได้เพียง 160,000 คนเท่านั้นในปี 2021

      แม้ว่าการส่งออกและภาคเกษตรน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงแรง

       KKP Research ปรับการประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2021 จากการเติบโตที่ 2.2% เหลือ 1.5% และยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่านี้หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีการระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการฟื้นตัวที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวไป 6.1% ในปีก่อน

วัคซีนไทยล่าช้าเพราะทางเลือกนโยบาย

       วัคซีนที่ล่าช้าเป็นผลมาจากทางเลือกนโยบายของภาครัฐ มากกว่างบประมาณที่ไม่เพียงพอ เมื่อประเมินตัวเลขงบประมาณทั้งหมดเพื่อการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ผ่านนโยบายทั้งการแจกเงิน การให้เงินอุดหนุน โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และเปรียบเทียบกับราคาวัคซีนจะพบว่า

      หากนำนโยบายที่ใช้เยียวยาจากการระบาดระลอกใหม่เพียงสองสัปดาห์ไปซื้อและฉีดวัคซีนแทนจะสามารถซื้อ Pfizer ได้ถึง 129.4 ล้านโดส Moderna ได้ถึง 83.1 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรไทยเกือบทั้งประเทศและลดต้นทุนทางการคลังจากการเยียวยาไปได้อย่างมาก

วัคซีนไม่พอ การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น

     KKP Research ประเมินว่าแผนการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง ในกรณีฐานประเมินว่าการฉีดวัคซีนของไทยน่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของประชากรในปีนี้

      และด้วยระดับประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ กว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) จะต้องใช้ฉีดวัคซีนมากกว่า 80% ของประชากร (ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของวัคซีนและความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา) และอาจจะใช้เวลาถึงไตรมาสสองของปี 2022

      แต่ในกรณีเลวร้ายที่วัคซีนทำไม่ได้ตามแผน อาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อล่วงเข้าไปในครึ่งหลังของปี (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น มีผู้ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนจำนวนมาก) แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและไม่มีความไม่แน่นอน จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวจะไม่สามารถกลับมาได้ในเต็มที่ในปีนี้

      ยิ่งไปกว่านั้นการท่องเที่ยวปี 2022 อาจกลับมาน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมินเพราะนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาเที่ยวในไทย เศรษฐกิจไทยหวังการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนในไทยทำได้ตามแผน แม้ว่าในปัจจุบันนายกรัฐมนตรีจะประกาศตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน

      แต่ KKP Research ประเมินว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังขึ้นอยู่กับความต้องการมาเที่ยวไทยของคนต่างชาติด้วย เมื่อดูโครงสร้างของนักท่องเที่ยวของไทยจะพบว่าประมาณ 1 ใน 4 เป็นนักท่องเที่ยวจีน และรัฐบาลจีนยังส่งสัญญาณนโยบายว่าจะยังปิดประเทศต่อเนื่องแม้ประชากรจะได้รับวัคซีนไปจำนวนมากแล้ว ตลอดจนมีนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศในระยะยาว

      ทำให้คาดว่าในปี 2022 นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักจะยังไม่กลับเข้ามาเที่ยวในไทยปีหน้าและทำให้ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าที่ 5.8 ล้านคน เทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน

อะไรคือนโยบายที่สำคัญที่สุด ?

    การฉีดวัคซีนล่าช้าถือเป็นต้นทุนขนาดใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทย KKP Research ประเมินว่า ในภาพรวมไทยต้องเจอต้นทุนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นผ่านหลายช่องทางในภาวะที่การฉีดวัคซีนทำได้อย่างล่าช้า

    1) ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ ตัวอย่างของผลกระทบที่พอประเมินได้ในเดือนเมษายน คือ การบริโภคหดตัวลงประมาณ 4% และการลงทุนหดตัวลงประมาณ 2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือต้นทุนต่อเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 23,500 ล้านบาท ต่อเดือน

     2) ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าเดิม KKP Research ประเมินว่าความล่าช้าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 1.6 แสนคน และ 5.8 ล้านคนในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 34,000 บาทต่อคนคิดเป็นต้นทุนต่อเศรษฐกิจอีกประมาณ 96,560 ล้านบาทในปี 2021 และ 292,400 ล้านบาทในปี 2022

    3) ต้นทุนทางการคลังเพื่อต่อสู้กับการระบาด ในการระบาดระลอกใหม่รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกกว่า 2.19 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นประมาณ 3% ของ GDP

     KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่ารัฐบาลมีทางเลือกในการหลีกเลี่ยงต้นทุนมหาศาลเหล่านี้ได้โดยการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน ต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่ควรทำที่สุดในเวลานี้

      คือการเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ เร่งจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

      เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุม รัฐต้องเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นโครงการลงทุนที่สร้างรายได้ สร้างงาน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ตอบโจทย์และความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ได้