Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความแข็งแกร่งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เช่น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายขาดดุล การตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แต่ Fitch เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทย สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือนเมษายน 2564 มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 9.5 ปี และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่าร้อยละ 98 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (BBB peers) เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ฮังการี บัลกาเรีย รัสเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 68.8
Fitch คาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทย ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 52.7 ต่อ GDP จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการมีกฎหมายการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันที่ร้อยละ 59.4 อย่างไรก็ดี Fitch เชื่อมั่นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
2) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ที่ยังคงมีความเข้มแข็ง และส่งผลต่อการจัดอันดับความเชื่อถือของประเทศไทย โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 10.8 เดือน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 เดือน นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลที่ร้อยละ 0.5 ต่อ GDP และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 70 ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2564 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะเริ่มจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket Sandbox) ภายในเดือนตุลาคม 2564
ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ธรรมาภิบาล รายได้เฉลี่ยต่อหัวหนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงทางการเมือง รวมทั้งโครงสร้างประชากรสูงอายุที่จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศในระยะปานกลาง