ไข 12 คำถามคาใจ?! ‘เปิดประเทศภายใน 120 วัน’

ไข 12 คำถามคาใจ?!  ‘เปิดประเทศภายใน 120 วัน’

ก็มันคาใจ! กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตอบคำถามคาใจผู้ประกอบการท่องเที่ยว เกี่ยวกับโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโรดแมพเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยับเร็วขึ้นเป็นภายใน 120 วัน!

ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าตั้งเป้าเปิดประเทศทั้งประเทศภายใน 120 วัน “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมไว้ดังนี้

1. Q : โรดแมพและไทม์ไลน์การเปิดประเทศมีการเปลี่ยนแปลงขยับให้เร็วขึ้นหรือไม่

A : ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลง เพราะตามโรดแมพก่อนหน้านี้ จะทยอยเปิดประเทศด้วย 10 พื้นที่นำร่อง แบ่งเป็น ไตรมาส 3 มี 6 พื้นนำร่อง คิกออฟการเปิดประเทศด้วยโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต แบบไม่กักตัว อย่างน้อย 14 คืน ก่อนเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในไทย เริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีกระบี่ (เกาะพีพี ไร่เล เกาะไหง เกาะลันตา อ่าวนาง และทับแขก), สุราษฎร์ธานี (สมุย-พะงัน-เต่า), พังงา (เขาหลัก), ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม, อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า) ขณะที่ไตรมาส 4 จะมีพื้นที่นำร่องเพิ่มอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ชะอำ หัวหิน และบุรีรัมย์

แต่ตามโรดแมพล่าสุดที่มีการประกาศเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนที่ยังเหมือนเดิมคือโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต แบบไม่กักตัว อย่างน้อย 14 คืน ก่อนเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในไทย ยังเป็นไปตามกำหนดเดิมคือเริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้

โดยในไตรมาส 3 นอกจากจะมีโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์แล้ว ยังมีโครงการ “สมุย พลัส” ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบในหลักการให้พื้นที่ 3 เกาะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด (Sealed Routes) เริ่ม 15 ก.ค.นี้ รูปแบบการท่องเที่ยวจะต่างจากภูเก็ต โดยต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวม 3 ครั้งเช่นเดียวกับกรณีนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวส่วนขยาย (Extension) เชื่อมโยงจากภูเก็ต 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง Sealed Route สู่ 3 พื้นที่ใน จ.กระบี่ มีเกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล และอีกเส้นทางคือ จ.พังงา มีเขาหลัก และเกาะยาว เริ่มเดือน ส.ค.นี้

ส่วนพื้นที่นำร่องอีก 3 พื้นที่ซึ่งจะเริ่มเดือน ก.ย.นี้ มี จ.เชียงใหม่ (อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า), จ.ชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ) และ จ.บุรีรัมย์ (อ.เมืองบุรีรัมย์ และสนามช้างอารีนา) เพื่อรับการแข่งขันโมโตจีพีในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่ไตรมาส 4 ตั้งแต่เดือน ต..เป็นต้นไป จะมีกรุงเทพฯ ชะอำ และหัวหิน รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีความพร้อมในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นั่นหมายความว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ ประเทศไทยสามารถเปิดพื้นที่นำร่องได้มากกว่า 10 พื้นที่! โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละจังหวัดหรือเมือง

 

2. Q : จังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจาก 10 พื้นที่ข้างต้น ถ้ามีความพร้อมในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

A : หากพื้นที่ไหนมีความพร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในเดือน ต.ค.นี้ สามารถดำเนินการเปิดเมืองได้ แต่ต้องมีแผนการดำเนินงาน 3 แผน ได้แก่ 1.แผนการกระจายวัคซีน 2.แผนพัฒนาเมือง และ 3.แผนการทำตลาด รวมถึงการจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) ของเมืองนั้นๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อเปิดเมืองแล้วจะไม่มีปัญหาขึ้นมาภายหลัง และมีแผนเผชิญเหตุซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯให้ความสำคัญมากๆ

 

3. Q : ตามแถลงการณ์ของนายกฯ เรื่อง “เปิดประเทศทั้งประเทศภายใน 120 วัน” ถ้าหากยังมีจังหวัดหรือพื้นที่ที่ไม่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังต้องฝืนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวหรือไม่

A : ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายกฯชี้แจงว่าแนวทางการเปิดประเทศทั้งประเทศภายใน 120 วัน ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถมาเที่ยวประเทศไทยได้แบบไม่กักตัว หมายความว่าจาก 77 จังหวัดในไทย หากจังหวัดไหนพร้อม พบการติดเชื้อน้อย มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันไม่เกิน 20-30 คน สามารถเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันค่อนข้างสูง โดยตามไทม์ไลน์ใหม่จะเปิดเมืองกรุงเทพฯรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว เริ่มเดือน ต.ค.นี้ หากพบว่ายังมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในกรุงเทพฯที่ระดับ 500-600 คน นายกฯระบุว่ายังไม่ต้องเปิดก็ได้

 

4. Q : รัฐบาลมั่นใจในการเปิดประเทศทั้งประเทศภายใน 120 วันอย่างไร ในเมื่อปัจจุบันการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่คนไทยยังมีค่อนข้างน้อย

A : ต่อเรื่องนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นเพราะนายกฯมั่นใจแล้วว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ คนไทย 50 ล้านคนจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเปิดประเทศทั้งประเทศไม่ได้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า แค่ฉีดเข็มแรกร่างกายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึง 80% ภายใน 14 วัน และถ้าเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ระยะการฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2 ใช้เวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์

 

5. Q : เงื่อนไขของนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนเดินทางมาถึง จ.ภูเก็ต และ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า) เป็นอย่างไร

A : ก่อนเดินทางเข้ามาถึง มีเงื่อนไขดังนี้

-กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง (สาธารณสุขกำหนด)

-คนต่างชาติไม่ว่าจะถือหนังสือเดินทางของประเทศไหน ต้องพำนักอยู่ในประเทศความเสี่ยงต่ำและปานกลางอย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางเข้าพื้นที่ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า)

-คนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยสามารถเดินทางเข้าภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า) ได้ แต่ต้องเดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง

-กรณีคนไทยเดินทางไปฉีดวัคซีนต่างประเทศกลับเข้าภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า)ได้ แต่ต้องหลังจากฉีดวัคซีนครบโดสแล้วอย่างน้อย 14 วัน

-วัคซีนที่ฉีดต้องได้รับการรับรองโดย อย. (ไทย) หรือ WHO ครบโดสตามประเภทวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) ถูกต้อง

-กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อนุญาตให้เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วได้

-กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนครบตามประเภทของวัคซีน อย่างน้อย 14 วัน

-มีผลการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง

-มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด-19 วงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

6. Q : เมื่อเดินทางมาถึง จ.ภูเก็ต และ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า) นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

A : -นักท่องเที่ยวต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ณ สนามบิน

-ติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” (ภาษาอังกฤษ)

-เดินทางเข้าที่พัก SHA Plus+ ด้วยพาหนะที่กำหนด (กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เข้าที่พัก ASQ)

-รอผลการตรวจในห้องพัก เมื่อไม่พบเชื้อ กรณีภูเก็ต สามารถออกจากห้องพักและเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตได้ ส่วนกรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า สามารถออกนอกห้องพัก และใช้บริการต่างๆ เฉพาะในบริเวณโรงแรมที่พักเท่านั้น

 

7. Q: ระหว่างพำนักใน จ.ภูเก็ต และ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า) นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวและมีเงื่อนไขใดบ้าง

A: -กรณีพำนักในภูเก็ต หากนักท่องเที่ยวมีแผนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ในไทยต่อ ต้องอยู่ในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน หากอยู่น้อยกว่า 14 คืน ต้องเป็นการเดินทางด้วยเที่ยวบินตรงออกนอกราชอาณาจักรจากภูเก็ตเท่านั้น

-กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า คืนที่ 1-3 นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการต่างๆ เฉพาะในบริเวณโรงแรมที่พักเท่านั้น จากนั้นคืนที่ 4-7 นักท่องเที่ยวสามารถออกท่องเที่ยวในระบบได้ตามเส้นทางที่กำหนด (Sealed Routes) แต่ต้องอยู่ภายในพื้นที่เกาะสมุยเท่านั้น และตั้งแต่คืนที่ 8-14 นักท่องเที่ยวถึงจะสามารถนั่งเรือข้ามไปเที่ยวระหว่างเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าได้ กระทั่งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวครบ 14 คืน จึงจะออกไปเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในไทยได้

-ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A

 

8. Q: สรุปแล้วต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR กี่ครั้งเมื่อเดินทางมาถึงไทย

A: จะมีการตรวจ RT-PCR ตามระยะเวลาที่พำนัก หากพำนัก 14 คืน จะได้รับการตรวจ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ตรวจในวันแรกที่เดินทางมาถึง ณ สนามบิน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 และครั้งที่ 3 ในวันที่ 12-13

 

9. Q: สรุปแล้วค่าใช้จ่ายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ทั้ง 3 ครั้ง ผู้ที่จะออกค่าใช้จ่ายคือรัฐบาลไทยหรือนักท่องเที่ยว

A: ต่อเรื่องนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้ทางนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯได้ให้นโยบายไว้แล้วว่า ต้องดำเนินการภายใต้โจทย์ความปลอดภัยของพื้นที่ โดยค่าใช้จ่ายเรื่องการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อคน แต่ถ้าเป็นกรณีที่นักท่องเที่ยวต้องใช้หลักฐานการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ก่อนกลับประเทศต้นทางตามเงื่อนไขที่ประเทศต้นทางกำหนด นักท่องเที่ยวต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

 

10. Q: ก่อนเดินทางออกจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า) นักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

A: ก่อนเดินทางออกจากพื้นที่ดังกล่าว ไปจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย นักท่องเที่ยวต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่าได้พำนักอย่างน้อย 14 คืน และมีหลักฐานการควบคุมโรคตามที่จังหวัดปลายทางกำหนด

11. Q: การพำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 วันในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus+ จำเป็นต้องพักโรงแรมเดียวกันตลอด หรือสามารถเปลี่ยนโรงแรมได้ระหว่างนั้น

A: นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า หลังจากดูกรณีศึกษาในต่างประเทศ เช่น มัลดีฟส์ ซึ่งอนุญาตให้ย้าย (Hop) โรงแรมได้ ประเทศไทยก็จะอนุญาตให้ย้ายโรงแรมได้เหมือนกัน แต่บนเงื่อนไขสำคัญคือนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจองมาก่อนล่วงหน้า ไม่ใช่วันนี้นอนโรงแรม A แล้วจะย้ายไปนอนโรงแรม B ซึ่งได้มาตรฐาน SHA Plus+ เหมือนกันแบบกะทันหันในคืนถัดมา ซึ่งทำไม่ได้ จึงขอย้ำอีกครั้งว่าต้องจองมาก่อนล่วงหน้าเท่านั้น

12. Q: หากเกิดกรณีการระบาดซ้ำของโควิด-19 จนต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือยุติการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่อง มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขอะไรบ้าง

A: เป็นขอบเขตที่แต่ละพื้นที่นำร่องจะต้องกำหนดเองตามคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ของแต่ละพื้นที่ หากเกิดการระบาดซ้ำของโรคโควิด-19 จนถึงขั้นต้องยุติการเปิดเมือง โดยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อ ขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย หรือเกิดการแพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้าง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ

อย่างเช่น จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทย กำหนดไว้ว่าจะยุติการทำแซนด์บ็อกซ์เมื่อพบผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ กรณีติดเชื้อในวงกว้าง 3 อำเภอ มากกว่า 6 ตำบล หรือมีการพบเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งจะมี "ศูนย์บริหารจัดการการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว" (Command Center) คอยติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพราะถ้าพบผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้นมา จะต้องพิจารณาลดการจัดกิจกรรมก่อน จนกระทั่งสูงสุดนั่นคือการยุติเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว