'มอร์นิ่งสตาร์' ชี้ 5เดือน รีเทิร์นกองทุน ESG พุ่ง24%

'มอร์นิ่งสตาร์' ชี้ 5เดือน รีเทิร์นกองทุน ESG พุ่ง24%

"มอร์นิ่งสตาร์" เผยผลตอบแทน 5 เดือนแรกปีนี้ กองทุนยั่งยืนหรือESG มาแรงแข่งกองทุนทั่วไปได้ นำโดย กองทุน Innotech Sustainable Thai Equity Systematic พุ่งสูง 24.1% ย้ำหลังจากนี้ระวังความเสี่ยงเงินเฟ้อสร้างความผันผวนทุกกองทุน แนะลงทุนตามความเสี่ยง

นางสาวชญาณี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2564)  ผลตอบแทนกองทุนยั่งยืน  หรือ กองทุน ESG  ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ถือได้ว่ามีผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันกับกองทุนทั่วไปได้ สำหรับกองทุน  ESG  ที่ลงทุนในไทย  นำโดยกองทุน Innotech Sustainable Thai Equity Systematic (ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป) มีผลตอบแทนสูงสุดที่ 24.1% เทียบกับ SET TR ที่ 11.9%  ด้านกองทุนต่างประเทศ (FIF) กองทุน Principal Global Silver Age มีผลตอบแทนสูงสุดที่ 12.6% โดยมีนโยบายลงทุนไปกับแนวโน้มประชากรสูงวัยของโลก ขณะเดียวกันกองทุนอื่นๆ ก็มีผลตอบแทนระดับ 10% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ 6.6%

แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลตอบแทนกอง ESG นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนเป็นหลัก หากเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษก็อาจมีความเสี่ยงเฉพาะมากกว่ากองทุน ESG กองอื่น แต่หากมีการกระจายการลงทุนและใช้ปัจจัย ESG  ก็มีส่วนให้ยังสามารถแข่งขันกับกองทุนทั่วไปได้

โดยปัจจัยที่นักลงทุนต้องระวังการลงทุนกองทุน ESG ในช่วงนี้คือ เรื่องของเงินเฟ้อที่จะกระทบกับความผันผวนตลาดหุ้นทั่วโลก ที่กระทบกับทุกกองทุนได้ไม่ว่าจะเป็นกองทุน ESG หรือกองทั่วไป

แนะนำว่า นักลงทุนควรทำความเข้าใจว่า กองทุนESG ที่ลงทุนนั้นมีหลักการ/นโยบายการลงทุนอย่างไรหรือธุรกิจลักษณะไหน เพื่อที่จะจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม   

สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ของ กอง ESGในไทย มี 4กองทุน (ลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมด)  มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานี้ เติบโตเท่าตัว  ขณะที่อุตสาหกรรมมี 5.6 หมื่นล้านบาท มี 52 กองทุุน มั่นใจว่ากองทุน ESGไทย (ลงทุุนในหุ้นไทยทั้งหมด) มีแนวโน้มเติบโตในอนาคคต เนื่องจาก บลจ.หลายแห่งให้ความสนใจและอยู่ระหว่างพิจาณาการหาหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ส่วนกองทุนธรรมาภิบาง หรือ กองทุน CG ไทย ที่มีอยู่เดิม มีโอกาสที่จะการพัฒนาเป็นกองทุน ESG ได้ หากมีหลักเกณฑ์คัดเลือกไปแบบที่เป็นสากล ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ตลท.)กำลังพิจารณาอยู่เช่นกัน