ศบค. ยืนยันมี 'เตียงผู้ป่วย' เพียงพอสำหรับผู้ป่วยรายใหม่-ผู้ป่วยวิกฤต
โฆษก ศบค. ยืนยันมี "เตียงผู้ป่วย" เพียงพอสำหรับผู้ป่วยรายใหม่และผู้ป่วยวิกฤต ย้ำระยะห่างการเข้ารับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็ม 1 และ 2 อยู่ที่ 12 สัปดาห์
วันนี้ (23 มิถุนายน 2564) เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหาจำนวน "เตียงผู้ป่วย" ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยขั้นวิกฤต ซึ่งปัจจุบันยอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อส่วนมากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และส่วนมากเป็นผู้ป่วยสีเขียว จึงได้พิจารณาให้กรุงเทพมหานครย้ายผู้ป่วยสีเขียวเข้ารับการรักษาสังเกตอาการต่อใน Hospitel เพื่อให้มีจำนวนเตียงว่างมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง อาจมีการปรับศักยภาพโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บางขุนเทียน และหากบุคลาการทางการแพทย์ของภาครัฐไม่เพียงพอ ก็อาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์จากภาคเอกชน หรือหน่วยงานเอกชน อาทิ การสร้างสถานที่ และเตียง icu สำหรับดูแลผู้ป่วยอาการหนักในโรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น
ในตอนท้าย โฆษก ศบค. ยืนยันมาตรฐานการเว้นระยะห่างการรับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 อยู่ที่ 12 สัปดาห์ ในส่วนของ 16 สัปดาห์นั้น ชี้แจงว่าเป็นการยืดระยะเวลาของแต่ละประเทศที่อาจพบว่าผู้ที่จะเข้ารับวัคซีนมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเหตุที่ต้องยืดระยะเวลาการเข้ารับวัคซีนเข็ม 2 รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนของแต่ละประเทศที่ต้องการเพิ่มจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แต่ในประเทศไทยยังคงยึดที่ 12 สัปดาห์ และสำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องยืดระยะเวลาให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์