'คมนาคม' จ่อถก 'กทม.เคลียร์ปมรถไฟสายสีเขียว
คมนาคม เตรียมเปิดเวทีถกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วม กทม. หลัง “วิษณุ” สั่งเคลียร์ทุกข้อสงสัย ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม “ศักดิ์สยาม” ยันไม่ล้มประมูล จี้ทุกหน่วยงานประมูลโครงการ ต้องเปิดเวทีโลกออนไลน์รับฟังความเห็น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าสัญญาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานั้น เบื้องต้นได้รับรายงานว่าหลังจากนี้จะมีการหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมอบให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของการประชุม
อย่างไรก็ดี หลักในเรื่องนี้กระทรวงฯ ยืนยันว่าต้องทำแล้วถูกกฎหมาย และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนการกำหนดระยะเวลาในการหารือจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คงต้องรอข้อมูลส่งมาถึงกระทรวงก่อน เมื่อได้รับข้อมูลแล้วก็จะรีบดำเนินการหารือร่วมกันต่อไป แต่ทั้งหมดถ้ายึดระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชื่อว่าทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้
“เรื่องสายสีเขียวก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกวิษณุเป็นประธานในการประชุม โดยทางกระทรวงฯ มีรองสรพงศ์เป็นตัวแทนในการเข้าประชุม พบว่าที่ประชุมได้มอบให้ กทม. มาหารือร่วมกับกระทรวงฯ ในข้อทักท้วง 4 ข้อที่กระทรวงฯ สอบถามไปก่อนหน้านี้ และยังไม่ได้รับการชี้แจงอย่างครบถ้วน ซึ่งเรื่องนี้เรายึดหลักทำตามมติ ครม.และต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า ส่วนความกังวลเรื่องการล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์ และงานเดินรถทั้งเส้นทาง เชื่อว่าเหตุการณ์ไม่ร้ายแรงถึงขั้นล้มประมูล เพราะทุกอย่างดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย
ทั้งนี้ กรณีที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการยกคำร้องชั่วคราว ตอนนี้ผู้ที่ร้องกำลังยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าดำเนินการตามมติ ครม.ทั้งสิ้น โดยหลังจากนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดเวทีในโลกออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก และคลับเฮาส์ เป็นต้น ก่อนเปิดประมูลโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า 4 ข้อทักท้วงที่กระทรวงฯ เสนอไปยัง ครม.เพื่อประกอบการพิจารณารถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ศึกษาและทำความเห็น ประกอบไป 1.ความครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2.ค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 4.ข้อพิพาททางกฎหมายและการร้องเรียน