คนผ้าทั่วภาคอีสาน ประกวด 'ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ'
พช.น้อมรับพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯทรงมุ่งมั่นอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย พร้อมคัดเลือก 75 ผ้าพื้นถิ่นที่ดีที่สุดจาก 4 ภูมิภาค มุ่งรักษามรดกงานศิลป์ล้ำค่าของแผ่นดินไทย
วันที่ 25 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ระดับภาค โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการประกวดระดับภาค ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี โดยเน้นย้ำมาตรการป้องกัน การเว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในวันนี้ถือเป็นจุดท้ายสุดในการประกวดระดับภาค เพื่อคัดเลือก 75 ผ้าพื้นถิ่นที่ดีที่สุด จาก 4 ภูมิภาค เข้าตัดสินในระดับประเทศ โดยเริ่มต้นจากภาคกลางที่จังหวัดอยุธยา ภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP CITY 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย เพื่อฟื้นฟูมรดกงานศิลป์ล้ำค่าของแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อสื่อความหมายและส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ อีกทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ระดับภาค โดยได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริ ในวิถีของการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ และคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าทั้งหลาย ได้พัฒนาฝีมือ ค้นหาเทคนิควิธีการในการผลิตผ้าไทยให้ดีขึ้น เหมาะสมแก่การตัดเย็บเสื้อผ้าสมัยใหม่ เหนือล้ำไปกว่าการมุ่งหวังผลแพ้ชนะ คือการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ขณะที่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา ในการพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่สวมใส่ให้คนทั่วโลกยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ ซึ่งในระยะเวลากว่า 60 ปี ได้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มสตรีและพี่น้องคนไทยทั่วทุกภูมิภาค และในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณววีฯ” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้ในการประกวดทั้ง 4 ภูมิภาค ทำให้วงการผ้าไทยกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง กี่ทอผ้ากลับกลายมาเสียงกระตุกอีกครั้ง ตลาดให้การยอมรับเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดมิติใหม่ นำผ้าไทยไปออกแบบ ตัดเย็บ ออกแบบลวดลายได้ทันสมัย และสิ่งที่สำคัญในพระมหากรุณาครั้งนี้ ต้องการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้มีการรณรงค์สืบสานผ้าไทย ตามโครงการ“สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งหากคนไทย 35 ล้านคน ใส่ผ้าไทย 10 เมตร ๆ ละ 300 บาท จะทำให้เพิ่มรายได้ 3 แสนล้านบาทกลับคืนสู่ชุมชนไทย และยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกคนในประเทศได้ผลกระทบเป็นอย่างมาก การสวมใส่ผ้าไทยก็เป็นการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยร่วมกัน ก็ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทั้งประเทศสวมใส่ผ้าไทยไม่ว่าจะเป็น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม และอย่างยิ่งเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และในเดือนสิงหาคมเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระพันปีหลวง มาร่วมกันถวายพระเกียรติสวมใส่ผ้าไทย ด้วยความภาคภูมิใจร่วมกัน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประกวดผ้าลายพระราชทานฯ ในวันนี้ถือเป็นที่น่าภาคภูมิใจของพี่น้องชาวตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เป็นอย่างมาก ที่มีการส่งผ้าเข้าประกวดในระดับภาคเยอะที่สุดในประเทศไทย มากกว่า 1,677 ผืน ประเภทผ้าที่ส่งเข้าประกวดมากที่สุดคือ คือ ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ ส่งเข้าประกวดมากถึง 1,070 ผืน รองลงมา คือ ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ 294 ผืน, ผ้าขิด 92 ผืน, ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ 68 ผืน, ผ้าเทคนิคผสม 51 ผืน, ผ้ายกดอก 26 ผืน, ผ้าแพรวา 22 ผืน, ผ้าบาติก/มัดย้อม 22 ผืน, ผ้าจกทั้งผืน 10 ผืน, ผ้าปักมือ 9 ผืน, ผ้ายกเล็ก 5 ผืน, ผ้ายกใหญ่ 3 ผืน, ผ้าตีนจก 3 ผืน, ผ้าลายน้ำไหล 1 ผืน และผ้าพิมพ์ลาย 1 ผืน ซึ่งทุกผืนล้วนมาจากความตั้งใจและงดงาม โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในแวดวงแฟชั่นผ้าไทย ร่วมตัดสิน คัดเลือก ในส่วนของการประกวดระดับภาคนั้น โดยไม่มีการจำกัดจำนวนผ้าที่เข้ารอบแต่อย่างใด ผลงานที่เข้ารอบทั้งหมดจะไปเข้าสู่การตัดสินให้เหลือ 75 ผืนสุดท้าย ที่ดีที่สุด จาก 4 ภูมิภาค เหลือเพียง 75 ผืน เข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศต่อไป โดยรอบ Semi Final จะจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร และรอบตัดสินรางวัลการประกวดในระดับประเทศ ดำเนินการระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2564 โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระราชินูปถัมน์ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการตัดสิน เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจอย่างยิ่ง ผลงานของผู้ชนะการประกวด เป็น The Best of The Best จะถูกนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ และได้รับเหรียญพระราชทาน พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง มีนัยยะสะท้อนชัดเจนถึงการทรงงานเพื่อยกระดับคุณค่าผ้าไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ เผยแพร่ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ผ้าทุกผืนที่ทุกคน ทุกกลุ่มใช้ฝีมือร่วมกันสร้างสรรค์ เสริมส่งให้เกิดการพัฒนาศักยภาพวงการผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค
ในการนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี คณะกรรมการประกวดทุกท่าน และประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย รณรงค์ส่งเสริมคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นดั่งดอกผลของความมหัศจรรย์ที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานแก่พี่น้องคนไทยที่ได้นำลายผ้าพระราชทาน ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไปรังสรรค์แสดงผลงานเข้าประกวดกันในครั้งนี้ ทำให้วงการผ้าไทยเกิดความคึกคัก ปลุกกระแสผ้าไทยสู่สากล สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน