"กรุงศรี คอนซูมเมอร์" รุกขยายธุรกิจผ่านดิจิทัล ตั้งเป้าผู้ใช้โต 15%
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ รุกขยายธุรกิจผ่านกลยุทธ์สร้างระบบนิเวศดิจิทัล เตรียมเปิดตัวในไตรมาส 3 นี้ขยายแพลตฟอร์มข้อมูล ผลิตภัณฑ์ บริการ, ทำการตลาดเฉพาะบุคคล พร้อมจับมือพันธมิตร ปั้นโมเดลธุรกิจตอบโลกออนไลน์ ตั้งเป้าปีนี้ผู้ใช้โต15%กว่า10ล้านคน
นายอธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบการพัฒนาธุรกิจใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยถึงกลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ว่า “การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียและบริการออนไลน์ โดยข้อมูลจาก We Are Social ณ เดือนมกราคม 2564 ชี้ให้เห็นว่า คนไทยอายุ 16-64 ปีใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 8 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้าถึงลูกค้าที่ใช้บริการออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปีที่ผ่านมา มียอดการใช้ข้อมูลผ่านบัตร รวมถึงการใช้บริการช่องทางดิจิทัลในเครือกรุงศรีคอนซูมเมอร์ กว่า 250 ล้านรายการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องเร่งทำการตลาดโดยใช้ข้อมูล (Data-Driven Marketing) อย่างมีประสิทธิภาพ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงเตรียมขยายธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ และสร้างโมเดลธุรกิจที่ตอบสนองโลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้าที่จะสร้างระบบนิเวศเชิงข้อมูล (Data Ecosystem) ที่ดีซึ่งรวบรวมข้อมูลจากทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ไว้ในที่เดียวแบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจ เหมาะสมกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อย่างต่อเนื่อง”
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยเสริมศักยภาพในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดโดยใช้ข้อมูลให้กับบริษัท โดยในอนาคต บริษัทยังเตรียมสร้าง Krungsri Consumer Data Platform ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์ม ที่จะเชื่อมต่อและระบุตัวตนของลูกค้าจากข้อมูลทั้งออนไลน์ และออฟไลน์จากทุก Touch Point ของลูกค้าตลอด Customer Journey เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ ให้บริษัทสามารถให้บริการลูกค้าแบบไร้รอยต่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยภายในปี 2564 นี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าขยายฐานผู้ใช้บริการช่องทางดิจิทัลเป็น 10 ล้านคน หรือเติบโต 15%
นายอธิป กล่าวต่อไปว่า “ระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย 3 มิติสำคัญ” ได้แก่
1.การขยายแพลตฟอร์มข้อมูล ผลิตภัณฑ์ บริการ ผ่านช่องทางดิจิทัล (Platform) - กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มุ่งขยายแพลตฟอร์มในการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างครบวงจร รวดเร็ว และหลากหลาย โดยการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาให้บริการลูกค้า เช่น บริการ ‘ยืนยันตัวตนด้วยเสียง’ ที่ใช้เสียงพูดเพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัญชีบัตรเครดิตผ่านศูนย์บริการข้อมูลทางโทรศัพท์, บริการตรวจสอบข้อมูลบัญชีบัตรเครดิตด้วยตนเอง ผ่านระบบแชทบอทบน Facebook Messenger มีแผนเพิ่มช่องทางการสื่อสารทางดิจิทัลใหม่ ๆ อาทิ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ Line OA, Website, Facebook, Youtube ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุม รวมถึงมีการเปิดให้บริการดิจิทัลใหม่ ๆ อาทิ บริการ ‘ยูแคช’ (U Cash) โอนวงเงินบัตรเข้าบัญชีธนาคารเพื่อใช้เป็นเงินสด, บริการ U Card สมัครบัตรใหม่ผ่านแอป UChoose, พร้อมขยายจุดรับบริการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC) ผ่านจุดยืนยันตัวตนกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
2. การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรในหลากหลาย แบรนด์และประเภทกลุ่มธุรกิจ อาทิ อโกด้า, แอร์เอเชีย, แกร็บ, โฮมโปร, ช้อปปี้, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, ยูนิโคล่, โลตัสออนไลน์ เป็นต้น อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของลูกค้า ผ่านการทำโปรโมชันและดีลพิเศษที่ทำให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าจากการใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อส่วนบุคคลในเครือ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ได้แก่ ส่วนลดในการซื้อสินค้า, การใช้คะแนนแลกเครดิตเงินคืน, รับ E-Coupon หรือสิทธิประโยชน์ หรือดีลพิเศษในฟีเจอร์ U Mall ในแอป UChoose เป็นต้น
3.การสื่อสารและทำการตลาดเฉพาะบุคคลแบบ Personalized โดยใช้ข้อมูล (Personalization) กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีแผนจะนำข้อมูลที่ได้จากกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม มาวิเคราะห์เพื่อให้บริษัทสามารถให้บริการหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมและตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น โดยมีแผนจะทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) โดยให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชันที่แตกต่างกันสำหรับลูกค้าแต่ละรายแบบเรียลไทม์ ผ่านช่องทางที่ลูกค้าสนใจ ตามพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าได้อย่างทันที ถูกที่ ถูกเวลา ด้วยเครื่องมือทางการตลาดและการสื่อสารที่เหมาะสม