ทำความรู้จัก!! ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ ยารักษาพยาธิสู่ยาต้านโควิด ช่วยได้จริงหรือ?

ทำความรู้จัก!! ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ ยารักษาพยาธิสู่ยาต้านโควิด ช่วยได้จริงหรือ?

‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ ยารักษาพยาธิในคนและสัตว์ กลายเป็นยาที่หลายๆ คนอาจต้องการมากขึ้น เมื่อมีบางส่วนเชื่อว่า ยาดังกล่าวช่วยรักษาโควิด 19 ได้ ทั้งที่ยังไม่มีงานวิจัย การทดลองรองรับชัดเจน

หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ (Ivermectin) สามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้ ในทวีปอเมริกาใต้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการทดลองทางการแพทย์กับยาดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ มีการต่อสู้กันทางกฎหมายในแอฟริกาเกี่ยวกับยาตัวนี้ เนื่องจากแพทย์บางส่วนต้องการให้มีการรับรองการใช้งานยาตัวนี้กับมนุษย์ได้

  • ไทยเร่งศึกษา ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’

ล่าสุด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโควิด 19  ด้วยการใช้ ยาไอเวอร์เม็กติน  ซึ่งเป็น 'ยาถ่ายพยาธิ' ในสัตว์ ร่วมกับ ยาฟาวิพิราเวียร์ ว่าตอนนี้การรักษาหลักของไทย จะใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นหลัก แต่จะมีการศึกษาโดย ศ.เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้มอบให้ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เร่งศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการใช้ ยาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยจริง จำนวนมากหลักพันราย ให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน

โดยการศึกษาต้องนำยาใหม่ และยาเก่ามาเปรียบเทียบกัน เป็นการใช้ ยาไอเวอร์เม็คติน ร่วมกับ ยาฟาวิพิราเวียร์ เทียบกับสูตรยาเดิม หลักการศึกษาเบื้องต้นจะใช้ในรพ.ศิริราช และรพ.สังกัดกรมแพทย์ในพื้นที่กทม. ส่วนที่รพ.ใด จะใช้ ไม่ว่าจะ รพ.เอกชน หรือ โรงเรียนแพทย์ ถือเป็นดุลยพินิจแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ ทุกครั้งที่มีการใช้ยาตัวนี้ ต้องมีการรายงานกลับมาที่กรมการแพทย์

ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปกติยาไอเวอร์เม็กตินเป็น 'ยาถ่ายพยาธิ' ในสัตว์ และมีข้อจำกัดในการใช้เพียง  2 วันเท่านั้น  แต่สำหรับโควิด-19อาจต้องใช้นานกว่านั้น  และในแนวทางการรักษาโควิดไม่ได้แนะนำให้ใช้ เป็นเพียงหมายเหตุไว้เท่านั้น

  • ทำความรู้จัก ‘ยาไอเวอร์เมคติน’ เชื่อต้านโควิด

‘ยาไอเวอร์เมคติน’ Ivermectin เป็น 'ยาฆ่าพยาธิ' ซึ่งใช้รักษาโรคที่มีสาเหตุจากพยาธิตัวกลม เช่น โรคพยาธิไส้เดือน โรคพยาธิตัวจี๊ด และโรคจากปรสิตบางชนิด เช่น โรคหิด หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์  เนื่องด้วย ‘ยาไอเวอร์เมคติน’ มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

โดยคำเตือนในการใช้‘ยาไอเวอร์เมคติน’ มีดังนี้

-แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ

-แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้

-ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

162504585930

-แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ

-ควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยานี้พร้อมกับยาวาร์ฟาริน เพราะอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดอยู่เสมอ

-ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรระมัดระวังเวลาลุกขึ้นยืน เดินขึ้นหรือลงบันได เพราะยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะหรือหมดสติได้ แม้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม

-หลังจากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรตรวจอุจจาระซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่าหายจากโรคที่เป็นอยู่หรือไม่

-ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

-ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร

-ยานี้อาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และยาเลวาไมโซล จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Ivermectin หากกำลังใช้ยาเลวาไมโซลอยู่

  • ‘ยาไอเวอร์เมคติน’ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

สำหรับ ปริมาณการใช้ ยาไอเวอร์เมคติน นั้น ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้ โรคพยาธิไส้เดือน สำหรับฆ่าพยาธิ Ascaris Lumbricoides ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว ส่วนเด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว

ขณะที่ โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว  โรคพยาธิตัวจี๊ด สำหรับฆ่าพยาธิ Gnathostoma Spinigerum ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน เด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

โรคหิด สำหรับฆ่าตัวหิดหรือไรหิด ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง และรับประทานยาซ้ำใน 2 สัปดาห์ถัดไป เด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง และรับประทานยาซ้ำใน 2 สัปดาห์ถัดไป

  • การใช้‘ยาไอเวอร์เมคติน’ มีผลข้างเคียง

การใช้ยาไอเวอร์เมคตินตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องมีการปรับปริมาณการใช้ยาตามเหมาะสม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

โดยควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง และดื่มน้ำเปล่าตาม โดยควรดื่มน้ำให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย  ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น แจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น ความร้อน และห่างจากสายตาเด็กหรือสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว

สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้ ยาไอเวอร์เมคติน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิว หรือมีอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หมดแรง หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา อย่างไรก็ตาม หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ขณะเดียวหาก หากพบอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ ผิวบวมแดง มีตุ่มพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรืออาจไม่มีไข้ หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอกหรือลำคอ มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ หน้าบวม ปากบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เจ็บตา หรือระคายเคืองตาอย่างรุนแรง ระคายเคืองผิวอย่างรุนแรง ตัวบวม หรือต่อมต่าง ๆ บวมโต นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

  • นักวิทย์อ็อกซ์ฟอร์ดเริ่มทดลอง ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเริ่มทดลองให้ยาฆ่าพยาธิ ยาไอเวอร์เม็กตินกับคนที่มีอาการโควิดเพื่อดูว่าจะช่วยไม่ให้พวกเขาทรุดจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้หรือเปล่า??

โดยโครงการวิจัยที่ชื่อพรินซิเพิล (Principle) จะเทียบคนที่ได้รับยานี้กับคนที่ได้รับการดูแลตามปกติจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service - NHS) ยานี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงหลังถูกส่งเสริมให้ใช้รักษาโควิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้ แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้ ที่ผ่านมา การวิจัยทดลองนี้ยังเล็กเกินไปและไม่มีคุณภาพตามมาตรฐาน

ปกติแล้ว ยานี้ถูกใช้รักษาโรคพยาธิต่าง ๆ อาทิ โรคตาบอดแถบแม่น้ำ (river blindness) แต่มีการพบว่ามันสามารถฆ่าเชื้อไวรัสต่าง ๆ ในจานเพาะเชื้อได้ แต่ต้องให้ในโดสที่สูงกว่าปกติ

162504590364

ดร.ออรอรา บาลูจา วิสัญญีแพทย์และแพทย์แผนกผู้ป่วยหนัก บอกว่า มักมีการให้ยานี้ในภูมิภาคต่าง ๆ ในโลกที่มีโรคพยาธิแพร่หลายมีแนวโน้มว่าคนไข้โควิดที่เป็นโรคพยาธิพร้อมกันไปด้วยจะมีอาการหนักกว่า และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมดูเหมือนยาไอเวอร์เม็กตินจะมีผลดีต่อผู้ป่วยคนนั้น

ศ.ริชาร์ด ฮอบบ์ส หัวหน้าผู้วิจัยร่วมของโครงการพรินซิเพิล บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะแนะนำให้คนใช้ยาตัวนี้สำหรับโควิด เพราะการศึกษาแบบสังเกตการณ์ที่เคยมีมา เป็นการไปดูคนที่รับยานี้อยู่แล้ว ไม่ใช่การไปให้ยากับกลุ่มประชากรที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ได้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่ายาจะมีผลอย่างไรต่อคนต่างกลุ่มกัน

การศึกษาแบบสังเกตการณ์เคยชี้ว่ายาปฏิชีวนะอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) อาจช่วยผู้ป่วยโควิดได้ แต่การทดลองโดยพรินซิเพิลชี้ในเวลาต่อมาว่ายาไม่ได้ผลแต่อย่างใด ดังนั้นการทดลองโดยโครงการพรินซิเพิลจึงมีมาตรฐานสูง สามารถวัดได้จริงๆ ว่ายามีประสิทธิภาพหรือไม่โดยไม่นับปัจจัยอื่น ๆ

  • คนทั่วโลกแห่สั่งซื้อยา ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’เพื่อป้องกันโควิด

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเพียงพอ แพทย์และคนที่ซื้อยากินเองก็ใช้ยาไอเวอร์เม็กตินแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่บราซิล โบลิเวีย เปรู แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา

บริษัทขายยา ซิงเกิลแคร์ (SingleCare) ในสหรัฐฯ บอกว่าในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ปีนี้ มีคนสั่งยานี้ 817 ครั้ง เทียบกับแค่ 92 ครั้งเมื่อปีก่อน

ดร.สตีเฟน กริฟฟิน จากมหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า อันตรายของการใช้ยาสำหรับอาการนอกเหนือที่กำหนดไว้บนฉลากคือ การใช้ยาตัวนั้นถูกผลักดันโดยกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ หรือคนที่สนับสนุนการรักษาทางเลือก จนมันถูกทำให้เป็นการเมือง

ดร.สตีเฟน กล่าวว่าการทดลองโดยอ็อกซ์ฟอร์ดน่าเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าจะสามารถใช้ยานี้ได้หรือไม่ ซึ่งทีมวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ด พวกเขาเลือกยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง เพราะว่าสามารถหายานี้ได้ง่ายทั่วโลก และก็ค่อนข้างปลอดภัย ในจำนวนยาอีก 6 ตัวที่โครงการพรินซิเพิลทดลองอยู่ มีเพียงยาพ่นบูเดโซไนด์ที่มีสเตียรอยด์ที่ทีมวิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพ

ขณะที่ โครงการคู่ขนานของพรินซิเพิล ชื่อ ริคัฟเวอรี (Recovery) ซึ่งทดลองเรื่องการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลพบว่า เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นยาสเตียรอยด์อีกตัวหนึ่งที่สามารถรักษา 'โควิด 19' ได้โดยพบว่าช่วยชีวิตคนได้มากกว่า 2 หมื่นรายในสหราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'หมอพร้อม' เลื่อนฉีดวัคซีน 'ผู้สูงอายุ-7โรคกลุ่มเสี่ยง' เร็วขึ้น

                       ขั้นตอนการจัดเก็บ-ขนส่ง 'วัคซีนโควิด 19' เหตุใด? กลายเป็น 'วัคซีนเจลใส'

                       ศูนย์บริการวัคซีนจุฬาฯ ยืนยันคุณภาพวัคซีนไม่มีปัญหา

  • ราคา ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ ในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น 15 เท่า

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ชาวแอฟริกาใต้บางส่วนเรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้มีการใช้งาน ‘ยาไอเวอร์เม็กตินได้ ทำให้ยาตัวนี้ได้รับความนิยมในตลาดมืด นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการยึดยานี้ได้แล้วหลายล้านเม็ดในแอฟริกาใต้ โดยพบว่าเครือข่ายผิดกฎหมายนี้ไปไกลถึงจีนและอินเดีย

รวมถึงส่งผลให้ราคาของ ยาไอเวอร์เม็กติน ปรับตัวสูงขึ้น เดิมก่อนที่จะถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’10 เม็ด มีราคา 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 120 บาท) แต่ตอนนี้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเป็น 15 เท่าตัว

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของแอฟริกาใต้ (South African Health Products Regulatory Authority--Sahpra) ยังไม่อนุญาตให้ใช้ยานี้กับมนุษย์ มันถูกขึ้นทะเบียนให้ใช้รักษาพยาธิในสัตว์เท่านั้นกระนั้น แพทย์บางคนก็ได้เริ่มใช้ยานี้แล้วในช่วงที่การระบาดระลอกแรกรุนแรงที่สุดในเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว

ศ.นาทิ มัดลาดลา หัวหน้าหน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลจอร์จ มูคารี อะคาเดมิก (George Mukhari Academic Hospital) ในเมืองเดอร์บัน เป็นหนึ่งในแพทย์ไม่กี่คนที่เรียกร้องให้มีการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน  ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ได้ให้สัมภาษณ์บีบีซี ว่าในช่วงที่ระลอกแรกระบาดหนักที่สุด โรงพยาบาลจำนวนมากทั้งของรัฐและเอกชน และคลินิกแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในแอฟริกาใต้ต่างก็ใช้ไอเวอร์เม็กติน

“ผู้คนกำลังล้มตายและแพทย์กำลังหาทางเลือกในการรักษาเพื่อพยายามช่วยชีวิตคน ไอเวอร์เม็กตินเป็นหนึ่งในยาที่แพทย์ได้นำมาปรับใช้แล้ว"ศ.นาทิ กล่าว

  • แพทย์ย้ำ ต้องมีการทดสอบ ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ที่ชัดเจน

ศ.ไรตซ์ ร็อดเซธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับยาไอเวอร์เม็กตินมากกว่านี้ และมีหลายคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้

162504593314

"ผมค่อนข้างแปลกใจที่มีการร้องเรียนและพูดถึงความมหัศจรรย์ของยานี้ หลักฐานและคุณภาพของการศึกษาที่ได้ทำมาจนถึงขณะนี้ยังอ่อนมาก เราไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพูดได้ว่า 'ใช่ มันได้ผล' เพียงเพราะคุณรู้จักยา ไม่ได้หมายความว่า มันจะเอาไปใช้ได้เลย มันจะต้องมีการทดสอบก่อน" ศ.ไรตซ์ กล่าว

  • อย.ไทยเตือนอย่าเชื่อ ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’ ฆ่าพยาธิ ช่วยรักษา โควิด

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีข่าว ยาไอเวอร์เม็กติน ที่มีกระแสนำมารักษาโรคโควิด 19 ว่า ยาไอเวอร์เม็กติน เป็น ยาฆ่าพยาธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ในสัตว์ ส่วนในคนมีใช้กับพยาธิบางตัวและคนที่เป็นหิด เพราะฉะนั้น จึงเป็นยารักษาบางโรคในคน มีการใช้ไม่เยอะ ยาที่ขายส่วนใหญ่เป็นยาสัตว์

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ ปัจจุบันมีทะเบียนตำรับสำหรับสัตว์ประมาณ 200 ทะเบียน และมีทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย อยู่ 2 ทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 ทะเบียนจัดเป็นยาอันตราย และอยู่ในบัญชีรายการยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่มีการใช้ค่อนข้างน้อย

จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยาไอเวอร์เม็กตินไม่พิจารณาให้ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด -19 เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบว่าไม่ช่วยลดอัตราการตาย การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย

ส่วนทางด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA)  ไม่อนุมัติให้มีการใช้ยานี้ในการป้องกัน หรือการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมนุษย์เช่นเดียวกัน

ขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็คติน สำหรับการป้องกัน หรือการรักษาโควิด-19 ในสหภาพยุโรป แต่ให้ใช้ในการศึกษาทางคลินิกเท่านั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาระบุว่ายานี้สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ และการใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกตินี้ อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษที่สูงขึ้นได้ เช่น เกิดความดันเลือดต่ำ อาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ ชัก หรือโคม่าถึงแก่ชีวิตได้ EMA จึงไม่ให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

โดยสรุป 'ยาไอเวอร์เม็คติน' ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือ รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขณะนี้มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษา จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้ยาดังกล่าวเพื่อการรักษาโควิด-19 เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

อ้างอิง : บีบีซีไทย ,กรมการแพทย์ ,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,องค์การอนามัยโลก