‘ปตท.-โออาร์’ ผนึกโครงการหลวง ต่อยอดปลูกกาแฟ จ.ตาก
ปตท. และ โออาร์ ต่อยอดความร่วมมือ โครงการหลวง ขยายผลปลูกกาแฟคุณภาพ “โครงการหลวงเลอตอ” หวังสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพิ่มพื้นที่สีเขียว
วันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานและร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) ในโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
โดยมี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม
การลงนามในความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสานต่อการดำเนินงานพัฒนาการปลูกกาแฟอะราบิกา โดยนำผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง กับกลุ่ม ปตท. ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ขยายผลไปสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ทั้งในแง่องค์ความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาระบบการปลูกกาแฟคุณภาพ มีมาตรฐาน พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแหล่งต้นน้ำของประเทศ
นายอรรถพล ระบุว่า กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ในวันนี้จึงเป็นการสานต่อความร่วมมือในปี 2564 – 2568 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
โดย ปตท. กำหนดแนวทางของโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาทักษะอาชีพ ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่ง ปตท. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่
นอกจากนั้นในด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. มีแผนในการฟื้นฟูป่า จำนวน 200 ไร่ ควบคู่กับการสร้างรายได้ร่วมกับชุมชน ด้วยการพัฒนารูปแบบเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากวิถีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกไม้ป่าที่เป็นไม้พื้นถิ่น ควบคู่กับไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ อะโวคาโด พลับ มะคาเดเมีย และไม้พื้นล่างเพื่อเพิ่มรายได้ระยะสั้น ซึ่งในระยะแรกจะพัฒนาโมเดลการปลูกป่าดังกล่าว โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันฯ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ ควบคู่กับการฟื้นฟูระบบนิเวศ จำนวน 30 ไร่ ในบริเวณพื้นที่สำนักงานโครงการหลวงเลอตอ
สำหรับเป็นพื้นที่สาธิตในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนโดยรอบ และสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน สร้างความยั่งยืนด้านรายได้ ดูแลสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างสมดุล
นางสาวจิราพร เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงในการพัฒนาความรู้เกษตรกรชาวเขาควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมจากการผลิตกาแฟให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ โออาร์ ที่มุ่งเน้นการเกื้อกูลสังคมและสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกที่สร้างคุณค่าและสร้างพลังบวกให้กับสังคม มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบทั้งต่อผู้บริโภค เกษตรกร สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการเติบโตร่วมกัน สร้างชุมชนน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์
โดยที่ผ่านมาได้รับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากโครงการหลวง กว่า 2.5 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) สามารถสนับสนุนเกษตรกรชาวเขากว่า 800 ราย ในพื้นที่โครงการหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ให้มีรายได้และอาชีพที่มั่นคง และจะมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวเขาและชุมชนผู้ปลูกกาแฟ สามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป
รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการบริหารและจัดการของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกาแฟ เพื่อส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ โออาร์ยังมีแผนที่จะนำเมล็ดกาแฟและผลิตผลอื่น ๆ จากโครงการฯ ไปพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการทำการตลาดของคาเฟ่อเมซอนที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของกาแฟ (Single Origin) เพื่อสร้างให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก และเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชนในภาพรวมต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการลงนาม องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวขอบคุณในความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของกลุ่ม ปตท. มาจนถึงระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการขยายผลการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวเขา และชุมชนผู้ปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐานสากล สู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยองคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นับจากจุดเริ่มต้นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร ที่บ้านหนองหล่ม ดอยอินทนนท์ ในปี 2517 ได้นำมาสู่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์กาแฟอะราบิกาของมูลนิธิโครงการหลวงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพื้นที่ผลิตกาแฟของเกษตรกรโครงการหลวง 28 แห่ง ในพื้นที่ปลูก 14,900 ไร่ มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,300 ราย และมีผลผลิตกว่า 1,000 ตันต่อปี การดำเนินงานแบบครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้บันทึกความร่วมมือในระยะที่ 1 และ 2 ได้ก่อเกิดกาแฟคุณภาพพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมต่อการปลูกบนพื้นที่สูง 14 พันธุ์ มีรูปแบบการปลูกและการแปรรูปกาแฟที่ได้มาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามนโยบายอาหารปลอดภัยของประเทศ
รวมทั้งเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพ เกิดการรวมกลุ่มบริหารจัดการการผลิตกาแฟ ที่นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพยกระดับผลิตภัณฑ์กาแฟ และการขยายตัวของตลาดกาแฟที่ก่อเกิดประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกร และเกิดผลลัพธ์สำคัญที่ตามมาคือ สามารถลดปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
โดยเฉพาะในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอที่มีปัญหาความยากจนและการบุกรุกทำลายป่า ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโครงการหลวง ส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง