รสก.-เอกชน ดันแพลตฟอร์มเทรดคาร์บอนเครดิต รับเมกะเทรนด์โลกมุ่งพลังงานสะอาด
กระแสร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลก ต่างเร่งวางแผนธุรกิจให้สอดรับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรม
ประเทศไทย มีเป้าหมายท้าทายที่จะต้องเร่งดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามข้อตกลงปารีส(COP21) และการประชุมสุดยอดว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (IEA-COP26 Net Zero Summit) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี พ.ศ.2564 ประชุมออนไลน์ จัดโดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ และที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 (เจ้าภาพหลักการจัดเวทีเจรจาโลกร้อน) เพื่อหาแนวทางร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีส
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระยะใกล้ (Catalysing Near-Term Implementation) ซึ่งการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ยังถือเป็นก้าวสำคัญไปสู่การประชุม COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2564 ซึ่งได้กำหนดแนวทางที่ภาครัฐ เอกชน นักลงทุน และพลเมืองต้องร่วมมือกันเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้สอดคล้องกับการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้โรดแมปขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ที่กำหนดสำหรับภาคพลังงานโลก ที่จะพัฒนาพลังงานโดยมีเป้าหมายที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย ภายในปี พ.ศ.2593 หรือราว 30 ปี
ขณะที่ประเทศมหาอำนาจ ต่างประกาศเป้าหมายกำหนดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ที่เข้มข้น เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) เช่น จีน ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี ค.ศ. 2060 สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี ค.ศ.2050 เป็นต้น
กระแสลดภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นอีเว้นท์สำคัญระดับโลก ทำให้หน่วยงานด้านพลังงานของไทยตื่นตัวมากขึ้น ทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของประเทศอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ที่นำร่องพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดแล้ว ภาคเอกชนไทยก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP จับมือกับ 10 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ,บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจผ่านการซื้อขายคาร์บอน
เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่าย Carbon markets club ครั้งแรกในประเทศไทย ที่มุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ เครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดย กฟผ. ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบซื้อขายกันโดยตรง (over the counter) อยู่ ภายใต้การซื้อขายของสมาชิกในเครือข่ายฯ ในการพัฒนาการซื้อขายไปสู่ platform ระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และนำ blockchain มาใช้ในการซื้อขายสู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralized finance ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น และยังจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายและโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆได้
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP มองว่า การซื้อขายคาร์บอนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีแนวโน้มที่ประเทศมหาอำนาจ เช่น อียู ในอนาคตจะผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ผลิตโดยมีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูงกว่าอุตสาหกรรมที่ผลิตในอียู จะต้องจ่ายภาษีคาร์บอน หรือมีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย
ดังนั้น อุตสาหกรรมไทย จะต้องวางแผนรับมือ ดำเนินภาคการผลิตให้ตอบโจทย์ Net Zero โดยสามารถใช้กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเข้ามาชดเชยได้
“ราคา ณ ปัจจุบันของไทย การเทรดคาร์บอนฯอยู่ที่ 25 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าในอนาคตการส่งออกสินค้าไปยุโรปแล้วถูกปรับที่ยุโรป ณ วันนี้ อยู่ที่ 50 ยูโร ก็ประมาณ 1,500-1,600 บาทต่อหน่วย และในอนาคตอาจขึ้นไปอยู่ที่ 120 ยูโร หรือประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อหน่วย ก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าไปยุโรปได้”
ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่รุนแรงมากขึ้น หรือ ภาวะโลกรวน หลังจาก เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ได้เปิดตัวเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายสิทธิการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเพื่อสนับสนุนการซื้อขาย REC ให้เข้าถึงง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งจึงได้เปิดให้บริการ ประกอบด้วย ‘GreenLink Marketplace’ เพื่อเป็นตลาดกลางซื้อขายสิทธิการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมทั้งเปิด ‘I-REC ISSUER’ สำหรับเป็นช่องทางให้ความรู้ในการขึ้นทะเบียนผู้ขาย โรงไฟฟ้า และให้การรับรอง REC ตลอดจนเปิด ‘EGAT Green Credits’ ให้สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์พลังงานสีเขียวของ กฟผ. เพื่อร่วมผลักดันกลไกการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การเปิดให้บริการทั้ง 3 เว็บไซต์ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สอดรับกับทิศทางการเติบโตของพลังงานสีเขียว ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำทั่วโลกและกลุ่มบริษัท RE100 ที่ต้องการเข้ามาลงทุนที่มุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอันนำไปสู่การจ้างงานสร้างรายได้ ตลอดจนขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 - 25 ภายในปี 2573 สู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้สำเร็จต่อไป
ด้าน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ได้เปิดตัวธุรกิจให้บริการซื้อ – ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนครบวงจร ช่วงเดือน พ.ย.2563 โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม ReAcc (Renewable Energy Acceleration Platform) ผ่านการใช้ระบบบล็อกเชนที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน รองรับการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Corporate Power Purchase Agreement หรือ CPPA) และการใช้พลังงานหมุนเวียนกับรถยนต์ไฟฟ้า
หลังจากช่วงต้นเดือนต.ค.2563 ปตท.ได้รับการรับรองจาก The International REC Standard (I-REC Standard) ให้เป็นตัวแทนให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนทั้งในส่วนของการขอใบรับรองฯ และการซื้อขายใบรับรองฯ ในรูปแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) รายแรกของประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทผู้ประกอบการในประเทศไทยและบริษัทต่างประเทศที่มีโรงงานหรือสถานประกอบการในประเทศไทยและ/หรือภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ การบริหารธุรกิจ ReAcc ดำเนินการภายใต้ บริษัท อัลฟ่าคอม จำกัด ซึ่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ดังกล่าวในสัดส่วน 100% และมีแผนเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม ReAcc อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้โดยสามารถดูข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.reacc.io
ขณะที่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ได้เตรียมการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ซึ่งมีแผนจะเสนอขายในตลาดต่างประเทศเร็วๆนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์