ไฟไหม้ฟางแล้ว แต่ยังไม่เคยล้อมคอก

สไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตโพลิสไตรีน (PS) สำหรับใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยเช่นกล่องใส่อาหาร กล่อง CD หรือฉีดก๊าซให้ฟูขึ้นเป็นโฟม ไม่ได้เพียงก่อให้เกิดอันตรายเฉพาะตอนที่ไฟไหม้เท่านั้น แต่ในสภาวะปกติเองก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ

ตัวสารสไตรีนโมโนเมอร์เองหากได้รับในปริมาณที่มาก จะเป็นอันตรายก่อให้เกิดการะคายเคืองต่อทางเดินหายใจ และกดประสาทส่วนกลาง (CNS depression) ทำให้หมดสติ หายใจช้า หัวใจเต้นช้า จนถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับผลกระทบระยะยาว หากค่อยๆ ได้รับสารทีละน้อย จะทำให้ระบบประสาทและสมองทำงานผิดปกติ เกิดผื่นคัน และจัดเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง[1] การนำโฟมที่ผลิตจากโพลิสไตรีนมาใช้ใส่อาหารหรือเครื่องดื่มก็มีโอกาสที่จะถูกชะปนเปื้อนอาหารหรือเครื่องดื่มได้[2] และเกิดผลกระทบระยะยาวดังที่กล่าวมาแล้ว

หากเกิดการลุกไหม้ของสารสไตรีนโมโนเมอร์รวมถึงตัวโพลิสไตรีนเอง จะเกิดสารอันตรายหลักๆ สามตัวได้แก่ 1) คาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากเพลิงไหม้ ไม่ว่าจะเกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษ ผ้า ไม้ หรือพลาสติก 2) โพลิไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เช่นเดียวกับที่พบได้จากไอเสียรถยนต์ PAHs ก่อให้เกิดการระคายเคือง ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และก่อให้เกิดมะเร็ง และ 3) Carbon Black ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ[3]

ในส่วนของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม PS เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ถูกรีไซเคิลน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวอื่นเช่น PET, HDPE หรือ PP เมื่อไม่ได้ถูกรีไซเคิลแล้วการจัดการปลายทางในปัจจุบันก็คือการฝังกลบหรือเทกอง หรือที่แย่กว่านั้นก็คือการทิ้งลงสู่ดินและแหล่งน้ำสาธารณะโดยตรง ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ถึงแม้อายุของ PS จะยาวนาน แต่ตัวมันจะเกิดการแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ (microplastic) โดยยังคงรูปเป็นโพลิเมอร์อยู่ ไม่ได้ถูกย่อยสลายกลับไปเป็นดินตามธรรมชาติแบบที่มีบางบริษัทชอบแอบอ้างเอาเองว่า biodegradable แต่ไม่มีใครรับรองให้ ไมโครพลาสติกพวกนี้สุดท้ายจะปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร

เนื่องจากสารกลุ่มนี้เมื่อถูกเผาไหม้แล้วจะกลายเป็นก๊าซแทบทั้งหมด มีกากของแข็งเป็นส่วนน้อยซึ่งต้องถูกนำไปกำจัดในโรงงานที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรม แต่ปัญหาใหญ่คืออากาศเสียที่ทำอะไรมากไม่ได้เนื่องจากกระจายตัวในวงกว้าง ต้องเร่งอพยพและเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่าออกจากบ้าน ใส่หน้ากาก N95 ถ้าเป็นไปได้ นอกจากนี้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจะกลายเป็นน้ำเสียปริมาณมหาศาลที่ต้องได้รับการบำบัด ท่อระบายน้ำและคูคลองรอบสถานประกอบการจะต้องถูกกั้นและสูบไปบำบัดแทนที่จะปล่อยให้ไหลไปตามธรรมชาติ

สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามในวันนี้ไม่ใช่ว่ามีอันตรายอะไรจากเหตุระเบิดหรือเพลิงไหม้ แต่ต้องถามว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดอุบัติภัยลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 เพิ่งมีเหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลพลาสติกใน จ.สมุทรปราการ[4] ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะดำเนินการทั้งส่วนที่แก้ปัญหาที่เกิดแล้ว และส่วนที่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุตั้งแต่ต้นทาง

ส่วนแรกคือ เมื่อเกิดระเบิดหรือเพลิงไหม้ และอพยพ ระงับเหตุจนสงบแล้ว จะต้องมีทีมสืบสวนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มาหาสาเหตุต้นตอว่าเกิดจากอะไรแน่ ไม่ใช่ไฟไหม้ทีก็มีเจ้าหน้าที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไฟฟ้าลัดวงจร หรือจุดธูปแล้วลืมดับอยู่เป็นประจำ สาเหตุอาจเกิดจากคน หรือระบบ เช่นถังเก็บสารเคมีไม่ได้มาตรฐาน ระบบดับเพลิงไม่ทำงาน วัสดุที่ทำผนัง หลังคาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน การจัดเก็บสารเคมีผิดวิธี เป็นต้น หากวางระบบไว้ดีแต่แรกก็จะช่วยป้องกันความประมาทเลินเล่อของคนได้ ข้อมูลที่ค้นพบที่จะถูกวิเคราะห์และนำเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องใช้ปรับปรุงแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำจากสาเหตุเดิมๆ อีก

เมื่อพบสาเหตุแล้ว ก็จะต้องมีการประเมินความเสียหายต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ของไทยจะประเมินเฉพาะทรัพย์สิน มูลค่าที่ประเมินก็จะต้องมีผู้ชดใช้ เช่นเจ้าของโรงงาน ผู้จัดการโรงงาน โดยอาจมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้จ่าย แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือการฟ้องคดีทั้งแพ่งและอาญา โดยจะไล่สืบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการ ผู้ตรวจประเมิน (safety auditor) และเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกใบอนุญาตหรือกำกับดูแลตามกฎหมาย ที่ผ่านมาในเมืองไทยแทบจะไม่มีข่าวเรื่องผู้รับผิดชอบออกมาเลยหลังเหตุการณ์ผ่านไป ไม่ต่างอะไรจากไฟไหม้ฟาง เมื่อผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษหรือบทลงโทษเบามากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่กอบโกยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาย่อมทำให้เกิดการตัดสินใจที่จะทำแบบเดิมเพราะคำนวณแล้วคุ้ม เช่นกำไรปีละ 200 ล้าน แต่ค่าปรับแค่ไม่กี่แสนบาท ปิดโรงงานหนีแล้วเปิดใหม่ก็ยังคุ้ม เจ้าหน้าที่รัฐก็เช่นกันหากไม่ได้รับการลงโทษ (การสั่งย้ายไปช่วยราชการแทบไม่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) ก็อาจจะมีโอกาสปล่อยให้คนชุ่ยลอยนวลไปสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อีก

สำหรับการป้องกันตั้งแต่ต้นทางก็คือการพิจารณาประเภทกิจการเองตั้งแต่แรกว่าควรให้มีอุตสาหกรรมแบบนี้หรือไม่ เช่นในยุโรปแทบไม่มีการใช้โฟมที่ผลิตจาก PS ด้วยการออกกฎหมายห้ามใช้โฟมบรรจุอาหารและเก็บภาษีสูงๆ สำหรับวัสดุกันกระแทกที่ผลิตจาก PS การพิจารณาที่ตั้งโรงงาน โรงงานที่มีความเสี่ยงต้องมีพื้นที่กันชน (buffer zone) ให้เพียงพอ ถ้าโรงงานอยู่มาก่อนก็ต้องไม่อนุญาตให้มีการสร้างบ้านล้ำมาในเขตกันชน และไม่แก้ผังเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มเล็ก การออกแบบก่อสร้างและเดินระบบโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว[5]ให้ได้อย่างจริงจัง หากก่อสร้างโดยใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ด้อยคุณภาพก็ต้องไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการ เมื่อก่อสร้างถูกต้อง ก็ต้องมีการตรวจสอบระบบความปลอดภัย การเดินระบบเป็นไปตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะติดปัญหาเดิมๆ บุคลากรไม่พอ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนภารกิจและแต่ไม่ได้รับการถ่ายโอนความชำนาญ (การอบรมไม่กี่ครั้งไม่ได้ทำให้คนเป็นผู้เชี่ยวชาญได้) ความพยายามที่จะให้มีผู้ตรวจสอบอิสระ (third-party auditor) จากเอกชนเข้ามามีบทบาทช่วยตรวจสอบโรงงานก็ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาต่อไป ยังไม่มีกฎระเบียบมารองรับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความกังวลของภาครัฐว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

นโยบายการให้ความสำคัญกับเงินลงทุน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยใจ ไม่ใช่ทำเพียงพิธีกรรมให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการสูญเสียโอกาสที่ไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 ตามที่ตั้งไว้ได้อย่างครบถ้วนทุกตัวชี้วัด

[1] https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/338268/HPA_STYRENE_Toxicological_Overview_v1.pdf

[2] https://www.goinggreenservices.com/Articles.asp?ID=260

[3] https://healthfully.com/list-of-all-chemicals-in-cigarette-smoke-4189007.html

[4] https://www.dailynews.co.th/regional/852462/

[5] https://www.diw.go.th/km/safety/pdf/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AF%20%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%203_9_55.pdf