'กรมการขนส่งทางบก' เปิดขายซองศูนย์ขนส่งชายแดนนครพนม 1.3 พันล้านบาท
กรมการขนส่งทางบกเปิดขายซองพีพีพีศูนย์ขนส่งชายแดนนครพนม มูลค่ากว่า 1.3 พันล้าน 12 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าตอกเสาเข็มปีหน้า พร้อมลุยศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ รองรับให้บริการ One Stop Service
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกเตรียมเปิดขายซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request for Proposal : RFP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงินรวมกว่า 1,361 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 12 ก.ค. – 13 ส.ค.นี้ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ในรูปแบบ PPP Net Cost
โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานรายปีในส่วนอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance : O&M) รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ
สำหรับโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จัดเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ของกรมการขนส่งทางบก ตั้งอยู่ที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม บนเนื้อที่กว่า 121 ไร่ ซึ่งจะทำหน้าที่รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)
รวมถึงรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างกระบวนการเวนคืนที่ดิน และเตรียมดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบในปี 2565 – 2567 และมีแผนเปิดให้บริการในปี 2568 โดยการคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 อีกทั้งเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนยังจะสามารถขอรับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ BOI กำหนดด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกยังอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อรองรับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และการเชื่อมต่อกับระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเบื้องต้นแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้ดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost
โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนค่าเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน และงานระบบบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และรับผิดชอบในส่วนของการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 15 ปี โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนได้ในช่วงปลายปี 2564 และลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ในช่วงปลายปี 2565
ส่วนการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถเชื่อมต่อและรองรับกับระบบรางนั้น จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของ ร.ฟ.ท. รวมถึงสอดรับกับแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งจะช่วยสร้างโครงข่ายคมนาคมที่มีการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งรูปแบบต่างๆ อย่างไร้รอยต่อ และยังรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ