จับตา CPN ซื้อหุ้น SF เกิน 25% เข้าข่ายแจ้ง กขค.รวมกิจการ
บอร์ดแข่งขันทางการค้า จับตา CPN ซื้อหุ้น SF เกิน 25% ชี้แนวโน้มการควบรวมธุรกิจมีมากขึ้นทั้งการต่อยอดธุรกิจและเพื่อความอยู่รอดในโลกธุรกิจ
กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ทุ่มงบ 7.7 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 30.36 % ของบมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF จาก บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป หรือ MAJOR ส่งผลให้ CPN จะขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน SF ด้วยสัดส่วนรวม 31.57%
ธุรกิจหลักของ SF คือ การพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย มีโครงการที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมดจำนวน 18 โครงการ ประกอบด้วย ศูนย์การค้าชุมชน ศูนย์ไลฟ์สไตล์ ศูนย์รวมสินค้าเฉพาะอย่าง ร้านค้าปลีก ศูนย์บันเทิง และการลงทุนในโครงการเมกาบางนา ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพและปริมณฑล ด้วยพื้นที่เช่าเพื่อการค้าปลีกรวมกันกว่า 4 แสนตารางเมตร ทั้งนี้ ธุรกิจของ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีคือโรงภาพยนตร์ที่มีสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง สามารถรองรับผู้ชมได้ 182,259 ที่นั่ง
การเข้าซื้อหุ้นจำนวน 30.36 % จึงถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จับตาทันทีว่า การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะเข้าข่ายการรวมธุรกิจที่ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เพราะกลุ่ม CPN ถือเป็นกลุ่มธุรกิจด้านการพัฒนาศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของประเทศไทย
ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า”สกนธ์ วรัญญูวัฒนา” ยอมรับว่า ได้ทราบข่าว CPN ที่เข้าซื้อหุ้น SF มาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อมีการซื้อหุ้นจริงก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าไปรวบรวมข้อมูลการรวมธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของการควบรวมธุรกิจเอาไว้ในมาตรา 51 โดยกำหนดประเภทของการรวมกันของผู้ประกอบธุรกิจ โดยกรณีดังกล่าวอยู่ในข่ายการรวมธุรกิจประเภทของการซื้อหุ้นซึ่งได้กำหนดไว้ 3 ลักษณะ คือ
1.การเข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือหลักทรัพย์อื่นที่อาจแปลงสภาพแห่งสิทธิ เป็นหุ้นได้ ณ สิ้นวันใดวันหนึ่ง เพิ่มขึ้นถึงหรือเกินกว่า 25% ขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจอื่น ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2.การเข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง ณ สิ้นวันใดวันหนึ่ง เพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% ขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจอื่น และ 3.การนับหุ้น กรณีผู้เข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้นเป็นบุคคลธรรมดาให้นับรวมการเข้าซื้อหรือได้มาโดยคู่สมรสด้วย กรณีผู้เข้าซื้อหรือได้มาซึ่งหุ้นเป็นนิติบุคคลนับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ถือหุ้นในนิติบุคคลผู้ซื้อเกิน 30 %ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด และ นับผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการด้วย
โดย CPN ที่เข้าซื้อหุ้น SF คาดว่า น่าจะอยู่ในข่ายของการรวมธุรกิจประเภทซื้อหุ้นตามมาตรา 51 ข้อ 2 ซึ่งประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ยังระบุว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ถือว่าเกิน 25% ซึ่งจะต้องแจ้งการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า แต่การรวมธุรกิจครั้งนี้จะมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อมูล ข้อมูลชัดเจนทั้งเรื่องหุ้น มูลค่าที่ซื้อ โครงสร้างธุรกิจ ดังนั้นจะต้องดูรายละเอียดโครงสร้างธุรกิจ การถือหุ้น สัดส่วนตลาด
อย่างไรก็ตามหากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพบว่า การรวมธุรกิจใจครั้งทำให้มีอำนาจเหนือตลาดก็จะต้องขออนุญาตควบรวมธุรกิจเช่นเดียวกับกรณีของบริษัทซีพี รีเทล ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมธุรกิจกับบริษัทเทศโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)จำกัด
การควบรวมธุรกิจในโลกธุรกิจปัจจุบันมีแนวโน้มมากขึ้นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจต้องปรับตัว ควบรวมธุรกิจจึงเป็นทางหนึ่ง เพื่อความอยู่รอดและเพื่อธุรกิจนั้นสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ
กลุ่ม CPN ซื้อหุ้นของSF ก็เพื่อการขยายธุรกิจและต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการรวมธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศต่อจากการรวมธุรกิจด้านการค้าปลีกของกลุ่มซีพี ซึ่งในอนาคตการวมธุรกิจขนาดใหญ่ในสาขาต่างๆก็จะตามมาอีก ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่บอร์ดแข่งขันทางการค้าต้องกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม