'บีซีพีจี' ควักเงินลงทุน 772 ล้านบาท ลุย 'ธุจกิจแบตเตอรี่' หวังต่อยอดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ลั่นแปลงสภาพกู้ 'วีอาร์บี' ปี 65 ถือหุ้น 15% พร้อมเริ่มรับรู้รายได้เฟสแรก 45 ล้านบาท
เมื่อไฟฟ้าคือพลังงานแห่งอนาคต !! บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สะท้อนผ่านผลประกอบการปี 2562-ไตรมาส 1 ปี 2564 กำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 1,801.42 ล้านบาท 1,912.25 ล้านบาท และ 523.36 ล้านบาท แต่ปัญหาของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็น 'พลังงานแสงอาทิตย์' (Solar) และ 'พลังงานลม' (Wind) นั่นคือ ความไม่เสถียร เนื่องจากไม่สามารถให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงที่ประเทศไทย 24 ชั่วโมง หรือทำให้ลมพัดแรงตลอดเวลา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเสถียรให้ธุรกิจ !
'บัณฑิต สะเพียรชัย' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ทิศทาง 'ธุรกิจพลังงานทดแทน' ของทั่วโลกมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของภาครัฐ และจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ด้วย 'ข้อจำกัด' ในด้านความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
ดังนั้น เมื่อต้องการกำจัด ข้อจำกัดดังกล่าว บริษัทจึงแตกไลน์สู่ 'ธุรกิจใหม่' (New Business) สะท้อนผ่านการลงทุนใน 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่' หรือ 'แบตเตอรี่' ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ (Vanadium Redox Flow) ซึ่งเราเปรียบธุรกิจแบตเตอรี่ คือเครื่องมือสำคัญเปรียบเสมือน จอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) ที่จะทำให้ชนะความผันผวนของธรรมชาติได้
สะท้อนผ่านบริษัทได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกู้แปลงสภาพบริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ (VRB Energy) ประเทศจีน วงเงิน 24 ล้านดอลลาร์ หรือ 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตนวัตกรรมด้านแบตเตอรี่วานาเดียมระดับโลก โดยเงินลงทุนจะใช้ในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี ขณะนี้ VRB อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 40 เมกะวัตต์/200 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) และสร้างโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่ขนาด 50 เมกะวัตต์ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาซื้อขายหุ้นกู้แปลงสภาพวีอาร์บี บริษัทจะสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ในกรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า แต่คาดว่าจะสามารถแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญได้ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น 15% คาดโรงงานแบตเตอรี่จะก่อสร้างเสร็จปี 2565 เมื่อมีการส่งมอบแบตเตอรี่ได้ตามแผน บริษัทจะรับรู้รายได้เข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 10 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 45 ล้านบาท และในปี 2567 โรงงานแบตเตอรี่เฟส 2 แล้วเสร็จ คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้เพิ่มเป็น 170 ดอลลาร์ต่อปี หรือราว 760 ล้านบาทต่อปี
สำหรับธุรกิจแบตเตอรี่ที่บริษัทเข้าลงทุนประเภท Vanadium Flow Battery นั้น คุณสมบัติมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง จนสามารถผลิตแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญ เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งสามารถจ่ายไฟแบบระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง หรือตลอด 24 ชั่วโมง และมีอายุการใช้งานยาวถึง 30 ปี โดยมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว รวมทั้งได้รับคำสั่งซื้อจากรัฐบาลจีน เพื่อติดตั้งแบตเตอรี่ในโครงการโรงไฟฟ้าในมณฑลหู่เป่ยซึ่งอยู่ในระหว่างการขยายโรงงานการผลิตเพื่อส่งมอบ
เขา บอกต่อว่า สำหรับตลาดเมืองจีน คือเป้าหมายหลัก (Primary Target) ในระยะแรก เนื่องจากความต้องการแบตเตอรี่ในตลาดจีนสูงมาก อ้างอิงจากข้อมูลของบลูมเบิร์ก ณ สิ้นปี 2563 ประเทศจีน มีการติดตั้งแบตเตอรี่แล้วรวม 2.7 กิกะวัตต์ (GW) และรัฐบาลจีนเพิ่งมีการประกาศเพิ่มเป้าหมายการติดตั้งแบตเตอรี่ ในระบบเป็นเป็น 30 GW ภายในปี 2568 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า โดยโรงงานของ VRB วางแผนขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 200 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 และเพิ่มเป็น 1,000 เมกกะวัตต์ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทลงทุน VRB ถือเป็นโอกาสใหม่ เนื่องจาก VRB ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมา และการสนับสนุนเงินทุนจาก Venture Capital รายใหญ่ มีจุดแข็งเรื่องนวัตกรรมด้านการขุดเจาะสำหรับธุรกิจเหมืองและมีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ รวมถึงมีความสนใจในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านการทำการตลาดระดับโลกให้กับ VRB Energy ซึ่งประเทศที่มีความต้องการการใช้แบตเตอรี่ อย่างเช่น สหรัฐฯ , อินเดีย และ ออสเตรเลีย
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar)
ขณะที่ การที่บริษัทลงทุนใน VRB จะช่วยให้ BCPG สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดแบบเสถียร (Firm clean energy) แก่ลูกค้าในอนาคตอันใกล้ เพื่อตอบโจทย์นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับองค์กรต่างๆ ตอบโจทย์แผนการพัฒนาธุรกิจระยะยาวของ BCPG ที่จะทำการพัฒนาธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ (smart energy) และรองรับแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ตามนโยบายภาครัฐอีกด้วย
โดยบริษัทมีแผนศึกษาและนำผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ VRB มาร่วมในโครงการที่บริษัทกำลังพัฒนาในไทย เช่น การนำแบตเตอรี่มาใช้บริหารจัดการการจำกัดการรับซื้อไฟ (Curtailment) ของโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานในการผลิตป้อนสู่ตลาดโลกเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทยอีกทางหนึ่ง
ยกตัวอย่าง ในไทยบริษัทมีการทดลองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รูปแบบการจัดการไฟฟ้าก็สามารถติดตั้งโซลาร์พร้อม Flow Battery โดยคาดว่าจะเห็นเป็นที่แรก หรือแม้กระทั่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดอ็อกไซต์ เมื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พร้อม Flow Battery ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความไม่เสถียรของไฟฟ้าอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในครานี้เป็นวงเงินลงทุนปี 2564 ที่บริษัทตั้งไว้ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนในแผนระยะยาว 5 ปี (2564-2568)อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีกรอบการตัดสินใจลงทุนดูจากผลตอบแทนการลงทุนที่บริษัทได้ให้สัญญาไว้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
โดยปี 2564 บริษัทตั้งเป้ากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) เติบโต 30-40% จากการรับรู้รายได้เต็มปีในหลายโครงการ เชน โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San 3 ในลาว 45 เมกะวัตต์ เข้าลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี2563 , โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ RPV ในไทย 4 โครงการ รวม 20 เมกะวัตต์ เข้าไปลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี2563 และ สุดท้ายคือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นอีก 3 โครงการ รวม 65 เมกะวัตต์ คาดจะทยอย COD ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างมองหาดีล 'ซื้อกิจการ' (M&A) ในโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อเข้ามาสนับสนุนผลการดำเนินงานในปีนี้ ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป
ท้ายสุด 'บัณฑิต' ทิ้งท้ายไว้ว่า ต้องสร้างโรงงานเพื่อสนองความต้องการในตลาดที่ใหญ่มหาศาลและมีโอกาสเติบโตระดับสูง และเป้าหมายต้องเป็นอันดับ 1 ในตลาดที่ต้องการการใช้งานยาวนานมากกว่า 4 ชั่วโมง