เปิด 12 ข้อ คำสั่ง นายกฯ 'ล็อกดาวน์’ และ 'เคอร์ฟิว’ 10 จังหวัด ราชกิจจาฯประกาศแล้ว
เปิด 12 ข้อ คำสั่ง นายกฯ "ล็อกดาวน์" และ "เคอร์ฟิว" ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา สั่งบังคับ "10 จังหวัด" พื้นที่สีแดงเข้ม กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ สงขลา (ฉบับเต็ม)
วันที่ 10 ก.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศล่าสุด ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนตการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่ จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์เสียใหม่ โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขั้นสูงสุด ที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ และประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
ข้อ 2 การห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นตามข้อ 4 ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ข้อ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 2 ได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน และเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องที่อาศัยช่วงเวลาวิกาลในการละเมิดกฎหมายด้วย
ข้อ 4 บุคคลที่ได้รับยกเว้น ให้บุคคลตามกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาดังกล่าว
(1) การสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งผู้ดูแลบุคคลดังกล่าว แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติงานในการให้บริการด้านสาธารณสุข
(2) การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า
(3) การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะ ผู้ขนส่งและผู้เดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานหรือสถานีขนส่ง ผู้ขนส่งและประชาชนที่เดินทางไปยังที่เอกเทศ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้ นแรก ผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในห้วงเวลาดังกล่าว
(4) การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน ได้แก่ ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง หรือผู้ประสบภัย ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้บริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย ผู้บริการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายและอุปกรณ์ในการสื่อสาร โทรคมนาคม ผู้บริการงานช่วยเหลือกู้ภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภัยพิบัติ ผู้บริการ ด้านธนาคาร ตลาดทุน การประกันภัย ผู้จำเป็นต้องดำเนินงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
(5) การประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามรอบเวลา กะ หรือการทำงาน ตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการและเอกชน การทำงานในโรงงาน งานก่อสร้าง งานบำรุงรักษาหรืองานเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานได้งานดูแลรักษาความปลอดภัย งานด้านเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ หรือการตรวจรักษาสัตว์
(6) กรณีจำเป็นอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้บุคคลที่มีความจำเป็นตาม (1) ถึง (5) แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการ การเดินทางหรือหลักฐานอื่น ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ให้บุคคลที่มีความจำเป็นตาม (6) แสดงเหตุจำเป็นพร้อมหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออนุญาต
ข้อ 5 การกำหนดกรณียกเว้นเพิ่มเติม ในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อ 4 เป็นการทั่วไปเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต
ข้อ 6 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้ เพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบ และเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งสามารถจัดมาตรการป้องกันโรคได้ เช่น การรักษาพยาบาล การติดต่อกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม
สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการ พิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงระยะเวลานี้ ทั้งนี้ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคลากรและเพื่อมีให้กิจการต้องหยุดชะงักหากเกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้นในองค์กร
ข้อ 7 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน "เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล" สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว ดังต่อไปนี้
(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่ จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่อากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย หรือสถานประกอบการอื่นใดที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา แต่คงห้ามการบริโภคในร้าน โดยให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
(2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และเปิดให้บริการเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยาและเวชภัณฑ์ ชูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่างและอุปกรณ์ การก่อสร้าง ธนาคาร สถาบันการเงินหรือธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์ และพัสดุภัณฑ์ การให้บริการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา การให้บริการฉีดวัคนหรือบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขอื่น ๆ และส่วนที่เป็นที่ทำการของรัฐหรือเอกชน
(3) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
(4) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้งให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา
(5) สถานประกอบการนวดแผนไทย (รวมทั้งบริการนวดฝ่าเท้า) สปา สถานเสริมความงาม และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ ปิดดำเนินการ
สำหรับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้ยังคงเปิดดำเนินการได้เท่าที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(6) ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดการอบรม การสัมมนา หรือการประชุมในช่วงระยะเวลานี้ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
(7) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นใดอย่างเคร่งครัดและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
ข้อ 8 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยให้จัดระบบ และระเบียบ จำนวน และห้วงเวลาของการเดินรถ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและตามแนวปฏิบัติ ที่ ศปก.ศบค. กำหนด
ทั้งนี้ การลดหรือจำกัดรอบการให้บริการอาจทำให้ผู้เดินทางไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรตามปกติในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา
ข้อ 9 การเดินทางข้ามจังหวัด ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติงานตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกจังหวัดอื่น 1 เพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ สำหรับการขนส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ต้นทางจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล หรือพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อกำหนดนี้โดยเพิ่มความเข้มงวดเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจคัดกรองการเดินทาง การจัดระบบและระเบียบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ในการลดหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลในห้วงเวลานี้
สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัด ให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เหมาะสมและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
ข้อ 10 มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น ให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดหรือรักษาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เร่งรัดจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการวางระบบ หรือจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรกตามแนวทางและมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งการเพิ่มจำนวนจุดบริการตรวจคัดกรองและเร่งรัดการให้บริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคนป้องกันโรคในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด) รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่ ศบค. กำหนด
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ข้อ 12 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน (จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) เว้นแต่จะได้มีการประเมินความเหมาะสมของสถานกรณ์ต่อไป แต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี