'หมอธีระ' แนะ 'ล็อกดาวน์' ทั้งประเทศ 1 เดือน
"หมอธีระ" แนะ "ล็อกดาวน์" ทั้งประเทศ 1 เดือน ชี้ ควรพิจารณา "ปรับครม." รวมถึงที่ปรึกษา เพื่อเปลี่ยนนโยบายและมาตรการทั้งหมด ให้ประเทศมีโอกาสและเปิดช่องทางในการผ่านพ้นวิกฤติและป้องกันไม่ให้เกิดอีกในอนาคต
วันนี้ (11 ก.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊ค Thira Woratanarat ระบุว่า "สถานการณ์ทั่วโลก 11 กรกฎาคม 2564 ทะลุ 187 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว ยุโรปกำลังโดนเดลต้าถล่มหลายต่อหลายประเทศ ทำให้เป็นช่วงขาขึ้นของระบาดใหม่ เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 402,227 คน รวมแล้วตอนนี้ 187,221,974 คน ตายเพิ่มอีก 6,906 คน ยอดตายรวม 4,041,920 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิม คือ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และรัสเซีย
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 14,107 คน รวม 34,725,683 คน ตายเพิ่ม 114 คน ยอดเสียชีวิตรวม 622,817 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 41,475 คน รวม 30,836,231 คน ตายเพิ่ม 899 คน ยอดเสียชีวิตรวม 408,072 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 48,504 คน รวม 19,069,003 คน ตายเพิ่มถึง 1,116 คน ยอดเสียชีวิตรวม 532,893 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 4,696 คน ยอดรวม 5,808,383 คน ตายเพิ่ม 19 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,321 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,082 คน รวม 5,758,300 คน ตายเพิ่ม 752 คน ยอดเสียชีวิตรวม 142,253 คน อัตราตาย 2.5%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมา เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพัน
เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่สี่ ทำลายสถิติต่อเนื่อง ล่าสุด 1,378 คน ส่วนเมียนมาหนักขึ้น ล่าสุด 4,377 คน สูงสุดเท่าที่เคยเป็นมาทั้งสองประเทศ
แถบยุโรปกำลังเผชิญการระบาดซ้ำ ทั้งกรีซ โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ติดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 10,283 คน ทะลุหมื่นไปแล้ว
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน จอร์เจีย เบลารุส และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่น
กัมพูชา และเวียดนาม ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
..ภาพรวมของทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของระลอกใหม่ จากสายพันธุ์เดลต้า
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 11% ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าๆ เดิมเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
เมื่อเจาะลึกถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น พบว่ามาจากทวีปเอเชีย 37.15% ทวีปอเมริกาใต้ 29.91% ยุโรป 16.24% ในขณะที่มาจากทวีปแอฟริกา 9% และอเมริกาเหนือ 7.5%
เราคงเห็นจากภาพประกอบ ที่ชี้ให้เห็นว่าทวีปยุโรปโดนเดลต้าถล่มอย่างน่ากลัว จำนวนการติดเชื้อเพิ่มรวดเร็วมาก ไทยจึงต้องระมัดระวังให้ดี
...ไทยเรามีเคสผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลรักษาเกิน 80,000 คนแล้ว หากจำกันได้ เคยบอกไปแล้วว่า หากจำนวนสะสมในระบบเกินหลักหมื่นปลายๆ ถึงแสนคน จะมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนคนเสียชีวิตหลักร้อยต่อวัน นี่คือบทเรียนที่เห็นจากต่างประเทศ
ดังนั้นแต่ละวันหากมีจำนวนเข้าสู่ระบบมากขึ้นในระดับหลายพันเช่นที่เป็นมา เราคงมีโอกาสเห็นการเสียชีวิตหลักร้อยในเร็วๆ นี้ครับ
จากที่ประเมินสถานการณ์การระบาดของไทยที่รุนแรงมายาวนานหลายเดือน กระจายไปทั่วประเทศ และคุมไม่อยู่ มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่เพิ่งประกาศไปและจะเริ่มวันจันทร์นี้ น่าจะได้ผลในเชิงการชะลอเท่านั้น แต่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ จะมีโอกาสระบาดซ้ำซ้อนไปเรื่อยๆ
มาตรการที่ควรทำคือ การทำ Full national lockdown ซึ่งมักต้องใช้เวลาในการล็อกนานระดับเดือนขึ้นไป
นอกจากนี้ ระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้น คือหัวใจสำคัญที่สุดในการคุมการระบาดแบบนี้ ไม่สามารถหวังผลเพียงจากการฉีดวัคซีนซึ่งมักต้องรอผลระยะยาว ดังนั้นการขยายระบบบริการตรวจให้ครอบคลุม ทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ติดเกณฑ์อาการหรือประวัติ ทุกคนควรสามารถรับการตรวจได้โดยง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง และปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
มองสถานการณ์ไปข้างหน้า คงเตือนเพียงว่า
หนึ่ง การระบาดคงมีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ศึกนี้ยาวมาก และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และระบบเศรษฐกิจสังคมมากมายกว่าที่เป็นมา ต้องวางแผนประคับประคองช่วยกันให้ดี
สอง ไทยเรายังเป็นระลอกสามที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่สามารถคุมได้ และมีโอกาสเจอปะทุซ้ำ จากปัจจัยเสี่ยงเชิงนโยบายที่มี เช่น เปิดเกาะ เปิดประเทศ ส่วนรัฐจึงควรพิจารณาปรับครม. เพื่อเปลี่ยนทิศทางนโยบายและมาตรการทั้งหมด รวมถึงการปรับเปลี่ยนวงที่ปรึกษาทั้งหมด โดยการหยุดนโยบายนำความเสี่ยงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ และทำ Full national lockdown
สาม ครึ่งปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวทางนโยบาย และมาตรการ ที่เกิดจากหน่วยงานนโยบายต่างๆ ทางด้านการสาธารณสุข ควบคุมป้องกันโรค และวัคซีนนั้นไม่สามารถจัดการสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากและเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐจึงควรพิจารณาปรับครม.เพื่อเปลี่ยนทิศทางนโยบายและมาตรการทั้งหมด รวมถึงการปรับเปลี่ยนวงที่ปรึกษา คณะกรรมการ และทีมงานด้านวิชาการต่างๆ เพื่อให้ประเทศมีโอกาสและช่องทางในการผ่านพ้นวิกฤตระบาดรุนแรงนี้ไปได้และป้องกันไม่ให้เกิดอีกในอนาคต
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดว่ารุนแรง และป้องกันตัวอย่างเต็มที่ มุ่งเป้าให้ตนเองและครอบครัวไม่ติดเชื้อ
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เรื่องนี้สำคัญมาก"